หน้าเว็บ

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย

ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย
'กบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร' โดยสาระสำคัญแล้ว การทำรัฐประหาร คือการใช้กำลังอำนาจเข้าเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐ โดยมาก หากรัฐประหารครั้งนั้นสำเร็จ จะเรียกว่า 'ปฏิวัติ' แต่หากไม่สำเร็จ จะเรียกว่า 'กบฏ'

จาก พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2534 มีการก่อรัฐประหารหลายครั้ง ทั้งที่เป็น การปฏิวัติ และเป็น กบฏ มีดังนี้

พ.ศ. เหตุการณ์ หัวหน้าก่อการ รัฐบาล
2475 ปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
2476 รัฐประหาร พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
2476 กบฎบวรเดช พล.อ.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2478 กบฎนายสิบ ส.อ.สวัสดิ์ มหะหมัด พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2481 กบฎพระยาสุรเดช พ.อ.พระยาสุรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2490 รัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง นายควง อภัยวงศ์
2491 รัฐประหาร คณะนายทหารบก นายควง อภัยวงศ์
2491 กบฏเสนาธิการ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2492 กบฎวังหลวง นายปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 กบฎแมนฮัตตัน น.อ.อานน บุณฑริกธาดา จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 รัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2497 กบฎสันติภาพ นายกุหราบ สายประสิทธิ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2500 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2501 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร
2514 รัฐประหาร จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ถนอม กิตติขจร
2516 ปฏิวัติ 14 ตุลาคม ประชาชน จอมพล ถนอม กิตติขจร
2519 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
2520 กบฎ 26 มีนาคม พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2520 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2524 กบฎ 1 เมษายน พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2528 การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน พ.อ.มนูญ รูปขจร * พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2534 รัฐประหาร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
* คณะบุคคลกลุ่มนี้ อ้างว่า พลเอก เสริม ณ นคร อดีตผู้บัญชาทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า แต่หัวหน้าก่อการจริงคือ พ.อ. มนูญ รูปขจร



ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย (2475 - 2534)


การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475
" คณะราษฎร " ซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนบางกลุ่ม จำนวน 99 นาย มีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงยินยอมตามคำร้องขอของคณะราษฎร ที่ทำการปฏิวัติในครั้งนั้น


รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งซึ่งเป็นการริดรอนอำนาจภายในคณะราษฏร ที่มีการแตกแยกกันเอง
ในส่วนของการใช้อำนาจ ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น ให้มีศาลคดีการเมือง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอิสระอย่างเต็มที่ การประกาศทรัพย์สินของนักการเมืองทุกคนทุกตำแหน่ง การออกกฎหมายผลประโยชน์ขัดกัน ฯลฯ


กบฏบวชเดช 11 ตุลาคม 2476

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ก่อการเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาล โดยอ้างว่าคณะราษฎรปกครองประเทศไทยโดยกุมอำนาจไว้แต่เพียงแต่เพียงผู้เดียว และปล่อยให้บุคคลกระทำการหมิ่นองค์พระประมุขของชาติ รวมทั้งจะดำเนินการปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามแนวทางของนายปรีดี พนมยงค์ คณะผู้ก่อการได้ยกกำลังเข้ายึดดอนเมืองเอาไว้ ฝ่ายรัฐบาลได้แต่งตั้ง พ.ท.หลวง พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ออกไปปราบปรามจนประสบผลสำเร็จ


กบฏนายสิบ 3 สิงหาคม 2478
ทหารชั้นประทวนในกองพันต่างๆ ซึ่งมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะสังหารนายทหารในกองทัพบก และจับพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ และหลวงพิบูลสงครามไว้เป็นประกัน รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏถูกประหารชีวิต โดยการตัดสินของศาลพิเศษในระยะต่อมา


กบฏพระยาทรงสุรเดช 29 มกราคม 2481

ได้มีการจับกุมบุคคลผู้คิดล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และได้ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณา และได้ตัดสินประหารชีวิตหลายคน ผู้มีโทษถึงประหารชีวิตบางคน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายพันเอกหลวงชานาญยุทธศิลป์ ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นผู้ได้ทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติมาก่อน


รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย


กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491

พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการ และจะกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ


กบฏวังหลวง 26 มิถุนายน 2492
นายปรีดี พนมยงค์ กับคณะนายทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และตั้งเป็นกองบัญชาการ ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารผู้ใหญ่หลายนาย พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยกาปราบปราม มีการสู้รบกันในพระนครอย่างรุนแรง รัฐบาลสามารถปราบฝ่ายก่อการกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง

กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494

นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยใช้ปืนจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา หัวหน้าผู้ก่อการได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจ และประกาศตั้งพระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเรือ กับทหารอากาศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถหลบหนีออกมาได้ และฝ่ายรัฐบาลได้ปรามปรามฝ่ายกบฏจนเป็นผลสำเร็จ

รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ต้องใช้วิธีการให้ตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น มีวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไป จึงได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสีย พร้อมกับนำเอารัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

กบฏสันติภาพ 8 พฤศจิกายน 2497

นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และคณะถูกจับในข้อหากบฏ โดยรัฐบาลซึ่งขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการรวมตัวกันเรี่ยไรเงิน และข้าวของไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นกำลังประสบกับความเดือดร้อน เนื่องจากความแห้งแล้งอย่างหนัก เป็นการดำเนินการที่เป็นภัยต่อรัฐบาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับคณะถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดการเลือกตั้งสกปรก และรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501

เป็นการปฏิวัติเงียบอีกครั้งหนึ่ง โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ลากออกจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดการขัดแย้งในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเรียกร้องผลประโยชน์หรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เป็นเครื่องตอบแทนกันมาก คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514
จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการปฏิวัติตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

ปฏิวัติโดยประชาชน 14 ตุลาคม 2516

การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษา และประชาชนกลุ่มหนึ่งได้แผ่ขยายกลายเป็นพลังประชาชนจำนวนมาก จนเกิดการปะทะสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายักรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เนื่องจากเกิดการจลาจล และรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครอง และมอบให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล ซึ่งมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลได้รับความไม่พอใจจากประชาชน และสถานการณ์จะก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างข้าราชการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีระยะเวลาถึง 12 ปีนั้นนานเกินไป สมควรให้มีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว

กบฎ 26 มีนาคม 2520

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกสวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลอากาศเอกกมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520

กบฎ 1 เมษายน 2524

พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่มโดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก แต่การปฏิวัติล้มเหลว ฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฏหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้

การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน 2528
พันเอกมนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการ ได้นำกำลังทหาร และรถถังจาก ม.พัน 4 ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชา และกำลังทหารอากาศโยธินบางส่วน ภายใต้การนำของนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก อยู่ในระหว่างการไปราชการต่างประเทศ กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลโดยการนำของพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชากรทหารสูงสุด ได้รวมตัวกันต่อต้านและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา พันเอกมนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร หลบหนีออกนอกประเทศ การก่อความไม่สงบในครั้งนี้มีอดีตนายทหารผู้ใหญ่หลายคน ตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีส่วนร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพลอากาศเอกอรุณ พร้อมเทพ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่-ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณ-จันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมร-วิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และพลเอกอสิระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน


ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ แบ่งการบริหารราชการออกเป็น ๓ ส่วน คือ
การบริหารราชการส่วนกลาง ใช้หลักการรวมอำนาจ คือให้อำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการขั้นสูงสุดอยู่ในส่วนกลาง โดยแบ่งหน่วยงานออกเป็น กระทรวง ทบวง กรม [รวมทั้งหน่วยงานที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม เช่น สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ราชบัณฑิตยสถาน ฯลฯ] หน่วยงานเหล่านี้ปรกติจะตั้งอยู่ในส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
ปัจจุบันการบริหารราชการส่วนกลาง มีดังนี้
ระดับกระทรวง มี ๑๔ กระทรวง (รวมสำนักนายกรัฐมนตรี)
ระดับทบวง มี ๑ ทบวง
ระดับกรม มี ๑๓๖ กรม
(ไม่รวมกรมต่าง ๆ ในกระทรวงกลาโหม และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีฐานะเทียบเท่ากรม)
การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการแบ่งอำนาจ คือราชการส่วนกลางเป็นเจ้าของอำนาจ แล้วแบ่งอำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการให้แก่ภูมิภาคนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน เป็นการลดขั้นตอนต่าง ๆ ลง และการปฏิบัติของภูมิภาคนั้นจะต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อนโยบายของส่วนกลางหรือของรัฐบาลหรือตัวบทกฎหมายของประเทศ
อนึ่ง อำนาจที่แบ่งให้นั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพอใจของส่วนกลาง และส่วนกลางแต่ละหน่วยก็แบ่งให้อาจไม่เท่ากัน เช่น บางกรมแบ่งการบริหารงานบุคคลให้ส่วนภูมิภาคแต่งตั้งโยกย้ายได้ตั้งแต่ระดับ ๔ ลงมา บางกรมให้ตั้งแต่ระดับ ๖ ลงมา บางกรมให้ตั้งแต่ระดับ ๗ ลงมา
อำนาจที่แบ่งให้ไปนั้น ราชการบริหารส่วนกลางอาจจะเรียกกลับคืนเมื่อใดก็ได้
การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มี ๕ ระดับ คือ
๑. จังหวัด
๒. อำเภอ
๓. กิ่งอำเภอ
๔. ตำบล
๕. หมู่บ้าน
กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคโดยอนุโลม ทั้งนี้ก็เพราะในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้กำหนดการบริหารส่วนภูมิภาคไว้เพียง ๒ ระดับ คือจังหวัดและอำเภอ แล้วได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ อีกว่า"การปกครองอำเภอ นอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่"
กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ในปัจจุบันจัดการบริหารราชการแผ่นดินในระดับรองลงมาจากอำเภอ ได้แก่ กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จึงจัดเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคด้วย
จังหวัด มี ๗๕ จังหวัด
อำเภอ มี ๗๒๙ อำเภอ
กิ่งอำเภอ มี ๘๑ กิ่งอำเภอ
ตำบล มี ๗,๑๕๙ ตำบล
หมู่บ้าน มี ๖๕,๑๗๐ หมู่บ้าน
(ข้อมูลประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๗)
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ใช้หลักการกระจายอำนาจ คือส่วนกลางได้โอนมอบอำนาจระดับหนึ่งไปให้ประชาชนในท้องถิ่นไปดำเนินการปกครองตนเองอย่างอิสระ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน กิจกรรมที่ท้องถิ่นทำได้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการพัฒนา และที่ว่า "ปกครองตนเองอย่างอิสระ" นั้น หมายถึงมีอิสระในการตัดสินใจต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาหรือการเสริมสร้างสนับสนุนกิจกรรมของท้องถิ่น เช่น ออกข้อบังคับหรือระเบียบต่าง ๆ มาบังคับประชาชนในเขตการปกครองของตนได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันมีรูปแบบดังนี้
๑. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อย่าสับสนกับจังหวัด)
๒. เทศบาล
๓. สุขาภิบาล
๔. ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้แก่
๔.๑ กรุงเทพมหานคร ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ ว่า "ให้กรุงเทพมหานครเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น..." ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงไม่ใช้ "จังหวัด" ในความหมายของการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
๔.๒ เมืองพัทยา ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารเมืองพัทยา บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ว่า "...ให้เมืองพัทยาเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น..." ดังนั้นเมืองพัทยาจึงมิใช่เทศบาล มิใช่สุขาภิบาล แต่เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด
๔.๓ องค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ใหม่) ได้กำหนดให้สภาตำบลที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท โดยไม่รวมเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง ติดต่อกัน ๓ ปี ให้ยกฐานะขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบล จึงเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตามที่กฎหมายสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลกำหนด อย่างสับสนกับ "ตำบล" ที่เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค
ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันที่เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดมี ๗๕ เทศบาล ๑๓๘ สุขาภิบาล ๑,๐๗๕ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา อย่างละ ๑ แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบลยังไม่จัดตั้ง

มรดกโลก

มรดกไทยที่ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก

1.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ไทยที่ตั้งอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา รับพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อ วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 มีโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่ไม่ต่ำกว่า200 แห่ง

2.แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง บ้านเชียง จ.อุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่ง ที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า5,000 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน

3.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขา แข้ง ลงทะเบียนของยูเนสโก ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 กินพื้นที่ครอบคลุม 6 อำเภอของ 3 จังหวัด ได้แก่ อ.บ้านไร่ อ.ลานสัก อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก มีพื้นที่ 4,046,747 ไร่ หรือ 6,427 ตารางกิโลเมตร

4.มรดกโลก ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลกแหล่ง ที่ 5 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติไทย ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อ วันที่ 10-17 กรกฎาคม พ.ศ.2548

5.แหล่งมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร อุทยานประวัติศาสตร์นี้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อ ปี พ.ศ.2534


สาเหตุที่ประเทศไทยลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกมรดกโลก


การที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ณ กรุงปารีส ได้ลาออกจากคณะกรรมการมรดกโลก หรือถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก จะมีผลทางกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของประเทศสมาชิกหรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับข้อบทแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. ๑๙๗๒ ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญา ซึ่งปัจจุบันได้มีการประมวลไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ มีผลบังคับกับรัฐที่ได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีกว่าร้อยประเทศ และส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นข้อบทที่เป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศตามจารีตประเพณี และในทางปฏิบัติของอารยะรัฐแล้วเกือบทั้งหมด จึงมีผลบังคับในทางปฏิบัติกับรัฐสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งเป็นภาคีและไม่เป็นภาคีโดยสมบูรณ์แบบตามอนุสัญญากรุงเวียนนา

ในสาระสำคัญนั้น อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. ๑๙๗๒ มีข้อบทที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเพิกถอน หรือถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญา ตามข้อ ๓๕ วรรค ๑ ฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาว่าผู้แทนไทยหรือหัวหน้าคณะผู้แทนไทยมีสิทธิอำนาจในการถอนตัว ตามอนุสัญญาหรือไม่เพียงใด

ปัญหาซึ่งอาจตามมาคือ การถอนตัวหรือเพิกถอนการเป็นภาคี หรือสมาชิกสภาพของรัฐภาคีของคณะกรรมการมรดกโลก และอนุสัญญามรดกโลก จะมีผลทางกฏหมายเมื่อใดหรือภายใต้เงื่อนไขประการใด การแสดงเจตนาย่อมมีผลทันทีที่ได้แสดงออก แต่ผลทางกฎหมายนั้น สมาชิกภาพของไทยในคณะกรรมการมรดกโลกยังคงเป็นเช่นเดิมต่อไปอีก ๑๒ เดือน หากจะพิจารณาในแง่อนุสัญญาพหุภาคีแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการประกาศให้ภาคีอนุสัญญาอื่น ๆ ได้รับทราบ และคณะกรรมการมรดกโลกเองจะได้ปรับสถานภาพเกี่ยวกับสิทธิ และภาระหน้าที่ที่เกี่ยวกับประเทศไทยได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับคณะ กรรมการและภาคีสมาชิกอื่น ๆ เพราะการถอนตัวย่อมกระทบกระเทือนสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกอื่นด้วย ฉะนั้น การให้โอกาสสมาชิกอื่นทราบเพื่อปรับตัวหรือตั้งข้อสังเกต ทัดทาน เห็นชอบ โต้แย้ง หรือตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับผลกระทบ เป็นสิ่งที่สังคมประชาคมและประชาชาติยอมรับเป็นทางปฏิบัติระหว่างอารยะ ประเทศ

เหตุผลที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้อรรถาธิบายไว้นั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแพร่หลายทั่วไปในด้านความชัดเจน แต่ในแง่ของการเมืองภายในประเทศ การลาออกเป็นสิ่งที่ไทยพึงกระทำมานานแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากการเป็นสมาชิกหรือเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก ประเทศสมาชิกต้องรับภาระชำระค่าบำรุงและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งไทยได้ประโยชน์เป็นนามธรรมเท่านั้น โดยได้ชื่อว่ามีสถานที่หลายแห่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา สุโขทัย บ้านเชียง ทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง และผืนป่าเขาดงพญาเย็น ฯลฯ โดยไทยได้ประโยชน์ในการเผยแพร่วัฒนธรรมซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของยูเนส โก

การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์หลักของยูเนสโกอย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเป็นฝ่ายเสนอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความเพื่อขยายผลคำพิพากษาศาล โลก พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งไทยไม่เห็นด้วยและคัดค้านมาโดยตลอด คำพิพากษาดังกล่าวประกอบด้วยคำพิพากษาหลัก และคำพิพากษาแย้งในสาระสำคัญของผู้พิพากษาถึงสามท่าน รวมทั้งคำพิพากษาเอกเทศของผู้พิพากษาอีก ๑ ท่าน ที่ไม่ควรถูกละเลยหรือมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๖๒ ถึงนายอูถั่น ผู้รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ส่งเวียนให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรับทราบโดยทั่วกันว่า ไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลโลก เพราะขัดต่อสนธิสัญญา ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และขัดต่อหลักความยุติธรรม พร้อมกับมอบหมายให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้แทนไทยในคณะกรรมการที่หก (กฎหมาย) แถลงเพิ่มเติม ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ ๑๗ ค.ศ. ๑๙๖๒ คำแถลงดังกล่าวมีความยาวประมาณ ๔๐ หน้ากระดาษ เป็นภาษาอังกฤษโดยมีล่ามทำหน้าที่แปลเป็นภาษาทำงานทางการของสหประชาชาติทุก ภาษา ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนประเทศอื่นใดรวมทั้ง ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และกัมพูชา ตั้งข้อสังเกตหรือโต้แย้งแต่ประการใด

แม้จะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาที่ไร้ความยุติธรรม ไทยก็ได้ปฏิบัติตามพันธะข้อ ๙๔ ของกฎบัตรสหประชาชาติอย่างครบถ้วน แต่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น ธรรมนูญข้อ ๕๙ ของศาลฯ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่มีผลบังคับนอกจากประเทศคู่กรณี และจำกัดเฉพาะในกรณีพิพาทนั้นเท่านั้น ไม่ผูกพันประเทศอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศใด ๆ หรือในข้อพิพาทอื่นใด จึงไม่ครอบคลุมไปถึงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ประการใด ฉะนั้น การขยายความเกินเลยขอบเขตคำพิพากษาเดิม เพื่อนำมาใช้อ้างอิงประกอบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนย่อมไม่สามารถทำได้ ไทยจึงสมควรลาออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกโดยด่วน มิฉะนั้น จะเป็นการยอมรับพันธะกรณีที่เกิดจากความผิดพลาดของยูเนสโก อันจะนำมาซึ่งความสูญเสียของประเทศชาติ

การถอนตัวจากอนุสัญญาสากลนั้น ความจริงเป็นอำนาจสิทธิขาดของรัฐภาคี โดยผ่านตัวแทนหรือคณะผู้แทนของรัฐภาคี โดยแถลงในที่ประชุมหรือยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลไทยใช้ประกอบการถอนตัวหรือความตื้นลึกหนาบางที่จะแถลง ให้ประชาชนทราบเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐบาลไทย

โดยที่ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่คดีประสาทพระวิหารกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา การตีความคำพิพากษาเดิมเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๒ จึงยังเป็นสาระที่มีสถานะเป็นปัญหา “sub judice” ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงมิบังควรที่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือแม้แต่ผู้พิพากษาในคดีดังกล่าว ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย หรือนักนิติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ จะลงความเห็นหรือวิพากวิจารณ์ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาสิ้นเสร็จเด็ดขาด ทั้งนี้ เพราะการลงความเห็นก่อนกาลเป็นการสุ่มเสี่ยงในการหมิ่นอำนาจศาล หรือละเมิดจริยธรรมของนักกฎหมายระหว่างประเทศ นักนิติศาสตร์ผู้คุ้นเคยกับจริยธรรมในการประพฤติปฏิบัติ ย่อมต้องเคารพและปฏิบัติตามระเบียบวินัยของวงการอย่างเคร่งครัด

ข้าพเจ้าจึงขอเรียนชี้แจงในฐานะอดีตที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญขององค์การยูเนสโก ในเรื่องมรดกโลก กรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติถึงสองสมัยเป็นเวลา ๑๐ ปี เป็นผู้เสนอรายงานพิเศษ และประธานคณะกรรมการร่างกฎหมายที่ได้พิจารณาร่างอนุสัญญาต่าง ๆ รวมทั้งข้อบทอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ




มรดกโลก

"มรดกโลก" (World Heritage Site) คือสถานที่อันได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้าง และเมือง ซึ่งคัดเลือกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ตั้งแต่พ.ศ.2515 เพื่อบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งที่มนุษยชาติ หรือธรรมชาติสร้างขึ้นมา และควรปกป้องสิ่งเหล่านั้นอย่างไรเพื่อให้ได้ตกทอดไปถึงอนาคต ปัจจุบันมีมรดกโลก 890 แห่ง ใน 138 ประเทศ แบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 689 แห่ง ทางธรรมชาติ 176 แห่ง และ 25 แห่งเป็นแบบผสม โดยแบ่งเป็น 5 พื้นที่ คือ แอฟริกา อาหรับ เอเชียแปซิฟิก ยุโรป-อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้-แคริบเบียน (มรดกโลกในตุรกีและรัสเซีย นับเป็นทวีปยุโรป)

ประเทศที่ต้องการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศของตนให้ได้รับการพิจารณาให้ขึ้น ทะเบียนเป็นมรดกโลก ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรมทั้งหมด ภายในประเทศของตน เรียกว่า บัญชีรายชื่อเบื้องต้น ทั้งนี้ สถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ เลือกรายชื่อสถานที่ที่ต้องการออกมาจัดทำแฟ้มข้อมูล ซึ่งจะถูกตรวจสอบและพิจารณาจากสภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและ แหล่งโบราณคดี และสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ แล้วทั้งสององค์กรจะยื่นข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลกที่จะประชุมปีละ 1 ครั้ง เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่มีการเสนอชื่อแห่งใดบ้างที่ควรได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก

ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก

หลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม

(vii) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่างๆในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก

(viii) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทาง ธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได

(ix) - เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา

(x) - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะ อันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่ว โลกให้ความสนใจด้วย


หลักเกณฑ์ทางธรรมชาติ

(vii) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่างๆในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก

(viii) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทาง ธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได

(ix) - เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา

(x) - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะ อันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่ว โลกให้ความสนใจด้วย


ขั้นตอนการเสนอชื่อสถานที่

ประเทศที่ต้องการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศของตนให้ได้รับการพิจารณาให้ขึ้น ทะเบียนเป็นมรดกโลก อันดับแรกจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและ วัฒนธรรมทั้งหมดภายในประเทศของตน บัญชีนี้จะเรียกว่า บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะมีเพียงสถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับการ เสนอชื่อ ขั้นต่อมา ประเทศนั้นๆจะต้องเลือกรายชื่อสถานที่ที่ต้องการเสนอชื่อมาจากบัญชีรายชื่อ เบื้องต้น เพื่อจัดทำเป็นแฟ้มข้อมูล (Nomination File) โดยทางศูนย์มรดกโลกอาจให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการจัดทำแฟ้มข้อมูลนี้

เมื่อถึงขั้นตอนนี้ แฟ้มข้อมูลจะถูกตรวจสอบและพิจารณาจากองค์กร 2 แห่ง ได้แก่ สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monuments and Sites) และ สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ (World Conservation Union) แล้วทั้งสององค์กรนี้จะยื่นข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลก ทางคณะกรรมการจะมีการประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้ง เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่มีการเสนอชื่อแห่งใดบ้างที่ควรได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก หรือทางคณะกรรมการอาจร้องขอให้ประเทศที่เสนอชื่อได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถาน ที่เพิ่มเติม โดยการพิจารณาว่าจะขึ้นทะเบียนสถานที่แห่งใดจะต้องมีลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐาน ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ


มรดกโลกที่ขึ้นบัญชีไว้แล้ว
เว็บไซต์ ทางการยูเนสโก ระบุผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 35 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก ปี 2554 ซึ่งเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ และแบบผสม จำนวน 25 แห่ง โดยแบ่งเป็น แหล่งทางวัฒนธรรม 21 แห่ง แหล่งทางธรรมชาติ 3 แห่ง และแบบผสม 1 แห่ง ทำให้ขณะนี้มีแหล่งมรดกโลกที่มีการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด 936 แห่ง เป็นวัฒนธรรม 725 แห่ง ธรรมชาติ 183 แห่ง แบบผสม 28 แห่ง
สำหรับมรดกโลกปี 2554 ทางวัฒนธรรม ได้แก่
-โบราณคดีของเกาะ Meroe ซูดาน
-ป้อมปราการราชวงศ์โฮปลายศตวรรษที่ 14 เวียดนาม
-พื้นที่กาแฟภูมิทัศน์วัฒนธรรมของโคลัมเบีย
-ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของ Serra de Tramuntana สเปน
-แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของ Al Ain สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
-โรงงาน Fagus เยอรมนี
-สถาปัตยกรรมในยุคอาณานิคมของอังกฤษ ศตวรรษที่ 18 - 19 บาเบร์ดอส
-Longobards อิตาลี ประกอบด้วย 7 กลุ่มของอาคารที่สำคัญ
-เสาเข็มยุคก่อนประวัติศาสตร์รอบเทือกเขาแอลป์ ครอบคลุมออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สโลวิเนีย และสวิสเซอร์แลนด์
-นิเวศวิทยา การประมงและรวบรวมหอยมีชีวิตและการใช้ของมนุษย์อย่างยั่งยืน เซเนกัล
-สวนเปอร์เซีย อิหร่าน
-ภูมิทัศน์ทะเลสาบวัฒนธรรมของหางโจว จีน
-วัดฮิไรซุมิ วัดที่เป็นตัวแทนของพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ ญี่ปุ่น
-Konso ภูมิทัศน์วัฒนธรรม เอธิโอเปีย
-มอมบาซา เคนยา
-คอมเพล็กซ์มัสยิด Selimiye Edirne ตุรกี
-ภาพแกะสลักหินและอนุสาวรีย์ศพของวัฒนธรรมในมองโกเลีย อัลไต 12,000 ปีที่ผ่านมา
-ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเกษตรเมดิเตอร์เรเนียน ฝรั่งเศส
-อนุสาวรีย์แสดงการเปลี่ยนแปลงจากบาร็อคกับสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค นิคารากัว
-สถาปัตยกรรมสไตล์เช็ก ยูเครน และ
-หมู่บ้านแบบโบราณในภาคเหนือของซีเรีย
-ส่วนแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้แก่ นิงกาลูโคสต์ แนวปะการัง ออสเตรเลีย
-หมู่เกาะโอกาซาวาร่า( Ogasawara) ซึ่งมีเกาะมากกว่า 30 เกาะ รวมความหลากหลายของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น ค้างคาว ญี่ปุ่น
-ทะเลสาบเคนยา และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแบบผสม ได้แก่ ทะเลทรายวาดิรัม พื้นที่คุ้มครอง จอร์แดน นอกจากนี้ มีพื้นที่ขยายที่ขึ้นทะเบียนอีก 1 แห่ง ป่าไม้บีชดึกดำบรรพ์คลุมเยอรมนี สโลวาเกีย และยูเครน

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

งานชิ้นที่ 4 เหตุการณ์กบฎ ร.ศ 130 (กบฎเหล็ง ศรีจันทร์)

เหตุการณ์กบฎ ร.ศ 130 (กบฎเหล็ง ศรีจันทร์)
กบฏ ร.ศ.130
 
         กบฏ ร.ศ. 130 เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นานถึง 24 ปี โดยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2455 (ร.ศ. 130) เมื่อนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการแตกเสียก่อน จึงมีการจับกุมผู้คิดก่อการหลายคนไว้ได้ มีการพิจารณาตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต แต่ท้ายที่สุดได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ด้วยทรงเห็นว่าผู้ก่อการมิได้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์
        คณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน 7 คน คือ
  1. ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) เป็นหัวหน้า
  2. ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ จาก กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
  3. ร.ต.จรูญ ษตะเมษ จากกองปืนกล รักษาพระองค์
  4. ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์
  5. ร.ต.ปลั่ง บูรณโชติ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์
  6. ร.ต.หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร จาก โรงเรียนนายสิบ
  7. ร.ต.เขียน อุทัยกุล จาก โรงเรียนนายสิบ
        คณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และวันขึ้นปีใหม่ ผู้ที่จับฉลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์ คือ ร.อ.ยุทธ คงอยู่ เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้ง สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
        ความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษ ที่สร้างขึ้นใหม่ และได้รับพระราชทานอภัยโทษในพระราชพิธีฉัตรมงคล เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ครบรอบปีที่ 15 ของการครองราชย์

[แก้ไข] ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจาก

        เมื่อตอนปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 พ.ศ. 2452 ได้เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างทหารราบที่ 1 กับพวกมหาดเล็กบางคนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในการที่ได้มีเหตุวิวาทนั้น ได้ความว่า เพราะเรื่องหญิงขายหมากคนหนึ่ง การทะเลาะวิวาทกันอย่างฉกรรจ์นี้ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงทราบ ก็ได้รับสั่งให้ผู้บังคับบัญชาการทหารราบที่ 2 ทำการสอบสวน และภายหลังการสอบสวนได้ความว่า หัวหน้าคือ ร.อ. โสม ซึ่งให้การรับสารภาพ ดังนั้น ร.อ.โสม กับพวกอีก 5 คน จึงถูกคุมขัง เพื่อรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาต่อไป
        สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระบรมชนกนาถ ขอให้ลงพระอาญาเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้นตามจารีตประเพณีนครบาล ในการกระทำอุกอาจถึงหน้าประตูวังของรัชทายาท แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วย เสด็จในกรมราชบุรี นักกฏหมายได้ชี้แจงว่า ควรจะจัดการไปตามกฏหมาย เพราะได้ใช้ประมวลกฏหมายอาญาเยี่ยงอารยประเทศแล้ว จึงไม่ควรนำเอาจารีตนครบาล ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้อีก แต่คำคัดค้านทั้งหลายไม่เป็นผล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังทรงยืนกรานจะให้โบยหลังให้ได้ มิฉะนั้นจะทรงลาออกจากตำแหน่งองค์รัชทายาททันที สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงเห็นการณ์ไกลว่า ถ้าไม่ตามพระทัย เรื่องอาจจะลุกลามกันไปใหญ่โต จึงทรงอนุมัติไปตามคำขอ
        จากพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ทหารทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง นักเรียนนายร้อยทหารบก พากันไม่ยอมเข้าเรียน แต่ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกขณะนั้น คือสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ได้ทรงอธิบายปลอบโยน ด้วยข้อความอันซาบซึ้งตรึงใจ นักเรียนนายร้อยเหล่านั้นจึงได้ยอมเข้าเรียนตามปกติ แล้วเหตุการณ์นั้นก็ผ่านไป
        ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2453 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งกองเสือป่าขึ้น และเอาพระทัยใส่ในกิจการนี้เป็นอย่างดี นายทหารรุ่นที่สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยรุ่นปลาย ร.ศ.128 เรียกรุ่นนั้นว่า "ร.ศ.129" ก็ได้เข้าประจำการตามกรมกองต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร บางคนยังไม่ลืมเหตุการณ์เฆี่ยนหลังนายทหารตั้งแต่คราวนั้น และยังสะเทือนใจอยู่ และประกอบกับมีความรู้สึกว่า "กองเสือป่า" ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งนั้น ก็มิใช่ลูกเลือ เป็นกิจกรรมที่ตั้งซ้ำกับการทหาร และยังทำงานชิงดีชิงเด่นกับทหารแห่งชาติเสียด้วย ย่อมทำให้ความมั่นคงของชาติเสื่อมสลายลงเป็นอย่างมาก
        เสือป่าในกองนั้น ส่วนมากก็คือราชการในพระราชสำนัก เป็นกองที่ทรงสนพระทัยอย่างใกล้ชิด จนคนภายนอกที่ไม่ได้เข้า หรือเข้าไม่ได้ ต่างพากันคิดผิดไป จนเกิดความริษยา ในขั้นแรกที่ว่าการเสือป่าในกรุงเทพฯ ก็โปรดปรานให้มีสโมสรเป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จที่สโมสรเสือป่าเกือบทุกวัน เพื่อทอดพระเนตรการฝึก สำหรับสโมสรเสือป่านั้น เสื่อป่าทุกชั้น จนถึงพลเสือป่าถึงเข้าเป็นสมาชิกได้ ข้าราชการและคนอื่นๆ จึงนิยมสมัครเข้าเป็นเสือป่า แต่ผู้ที่เป็นทหารประจำการอยู่แล้ว เข้าไปในสโมสรเสือป่าไม่ได้ ก็เกิดมีความเสียใจว่า ทหารถูกกีดกันไม่ให้เข้าใกล้พระเจ้าอยู่หัว จึงอยากจะเป็นสมาชิกสโมสรเสือป่าบ้าง เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ และเพราะน้ำพระทัยอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณา จึงโปรดให้ทหารเข้าเป็นสมาชิกสโมสรนั้นได้ โดยต้องสมัครเป็นเสือป่าด้วย เพราะการเป็นนายทหารสัญญาบัตร มิได้หมายความว่าเป็นนายเสือป่าสัญญาบัตรด้วย จึงเกิดเป็นภาพที่ออกจะแปลก เมื่อนายทหารสัญญาบัตร ถึงชั้นอาวุโสในกองทัพบก ทัพเรือ ในตอนเย็นกลับกลายเป็นพลเสือป่าไปฝึกอยู่ที่หน้าสโมสร พระราชวงศ์ถวายการสนับสนุนเรื่องกองเสือป่าเป็นอย่างดี และมักจะได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการพิเศษ กรมเสื่อป่ารักษาดินแดนมณฑล เช่นทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ทรงเป็นนายกกองเอกพิเศษ ของกองรักษาดินแดนมณฑลพิษณุโลก ทูลกระหม่อมบริพัตร เป็นของมณฑลนครสวรรค์ เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นในตอนต้นๆ ก็ไม่ทำให้ทหารเลิกรังเกียจเสือป่าได้
        แต่ความไม่พอใจของทหารหนุ่มหมู่หนึ่งนั้นยิ่งทวีขึ้น เพราะมองเห็นว่า กิจการของกองเสือป่านั้น ไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ประเทศชาติบ้านเมือง และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยไม่จำเป็น เป็นเหตุให้การเศรษฐกิจการคลังของประเทศอยู่ในฐานะฝืดเคือง และเป็นการทรมานข้าราชการผู้เฒ่าชราอย่างน่าสงสาร ทั้งยังทำให้กิจการงานเมืองฝ่ายทหาร และพลเรือนต้องอลเวงสับสน ไม่เป็นอันประกอบกิจการงาน เป็นการเสียทรัพย์ เสียเวลา เสียงานของชาติ และบุคคลบางจำพวกที่อยู่ในราชสำนักขณะนั้น ไม่ทราบซึ่งในพระมหากรุณาธิคุณ ของเจ้านายของตนเพียงพอ ปฎิบัติประพฤติตนไปในทำนองผยองตน ต่อข้าราชการและพลเมืองของชาติ ที่ยังจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ของเขาอย่างแนบแน่น จนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ก็ลงบทความตำหนิ จนผู้ที่มีใจเป็นธรรมต้องเข้าร่วมเป็นพรรคพวกกับทหารหนุ่มๆ เหล่านั้นด้วย แม้แต่กระทั้ง เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระอนุชาของพระองค์ ก็ได้ทรงแสดงพระอาการไม่เป็นที่พอพระทัยมาก จนออกหน้าออกตาความไม่พอใจได้เพิ่มทวียิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ.2454 หรือ ร.ศ. 130 พวกคิดก่อการโค่นล้มพระราชบัลลังก์ ได้เพิ่มพูนความไม่พอใจขึ้นอีก ด้วยเรื่องของความอิจฉาริษยาเสือป่า ซึ่งถือว่าเป็นหมู่ชนที่ได้รับการโปรดปรานยิ่งกว่าหมู่อื่น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการตระเตรียมการปฎิวัติขึ้น และแผนการณ์ปฎิวัตินั้นอยู่ในขั้นรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับจะลอบปลงพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยทีเดียว สมุหฐานที่สำคัญ ในการปฎิวัติครั้งนี้ ที่พอสรุปได้มีดังนี้ คือ
        1) เนื่องจากพวกจักรวรรดินิยม กดขี่ข่มเหงประเทศต่างๆ ในเอเซีย และได้แลเห็นประเทศจักรวรรดินิยมเหล่านั้น มีความเจริญในด้านต่างๆ จนสามารถปราบปรามประเทศต่างๆในเอเซีย และเรียนรู้การปกครองของประเทศจักรวรรดินิยมเขาทำกันอย่างไร จึงมีความปรารถนาจะให้ประเทศของตนเป็นไปอย่างยุโรปบ้าง
         2) พวกคณะปฎิวัติได้เห็นประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้า ภายหลังที่ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย จนสามรถรบชนะจีนและรัสเซีย จึงต้องการให้ประเทศสยามมีความก้าวหน้าอย่างนั้นบ้าง
        3) เมื่อเห็น ดร.ซุนยัดเซน โค่นบัลลังก์แมนจู เป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะปฎิวัติ ร.ศ. 130 ต้องการให้ประเทศสยามเป็นเช่นนั้นบ้าง
        4) คณะปฎิวัติเล็งเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ่อนแอเหมือนพระเจ้าหลุยส์ที่14 ไม่สนพระทัยในกิจการบ้านเมือง จึงคิดจะปฎิวัติ เพื่อปรับปรุงประเทศอย่างตะวันตก
        5) ทหารถูกเหยียดหยาม
        6) ความเป็นไปในราชสำนักฟุ่มเฟือย ไร้สารัตถะ
        7) ความสิ้นเปลืองเงินแผ่นดินไปโดยไร้ประโยชน์ และมีเหตุอันไม่บังควร
        8) มีการแบ่งชั้นวรรณะ ระหว่างผู้ที่เรียกตนเองว่าเจ้า กับไพร่
        9) ขุนนางผู้ใหญ่ มีความเสื่อมทรามเหลวแหลก
        10) ข้าราชการทำงานเอาตัวรอดไปวันๆ โดยไม่คิดถึงประเทศชาติและบ้านเมือง
        11) ราษฎรไม่ได้รับการบำรุงส่งเสริมอย่างจริงจัง
        12) ชาวไร่ ชาวนา ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการส่งเสริมช่วยเหลือให้ดีขึ้นตามสมควร
        13) ทุพภิกขภัย ความอดอยากหิวโหย แผ่ซ่านไปในหมู่กสิกร เมื่อดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูก
        14) ทั้งที่เกิดความอดอยากยากจนอยู่ทั่วประเทศ แต่ทางราชการกลับเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ราษฎรประสบความเดือดร้อนอย่างสาหัส
        15) ผู้รักษากฎหมายใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ ประชาชนพลเมือง
        16) กดการศึกษาของพลเมือง เพื่อมิให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เทียบเท่าชนชั้นผู้ปกครอง
        17) ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองขาดการทำนุบำรุง
ภาพ:คณะปฎิวัติ_ร.ศ._130.JPG
คณะปฎิวัติ ร.ศ. 130
        บุคคลคณะนี้ เป็นนายทหารที่รักความก้าวหน้า และปรารถนาที่จะให้ประเทศชาติมีการปกครองเช่นเดียวกับจีนและญี่ปุ่น และต้องการให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย บุคคลที่เป็นหัวหน้าคิดการใหญ่ครั้งนี้คือ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์ ) นายแพทย์ประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก และยังเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ เสด็จในกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นหัวหน้าดำเนินการและริเริ่ม พร้อมด้วย ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ซึ่งเป็นนายทหารสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อย ประจำการอยู่ที่กรมทหารราบที่ 12 มณฑลนครไชยศรี
        นายทหารทั้งสองนี่ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะให้ประเทศมีการปกครองตนเอง เปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จะนำเอาแบบอย่างนานาอารยะประเทศมาใช้ จะปรับปรุงการศึกษา และการทหารเสียใหม่ จะให้สิทธิและเสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ ให้มีรัฐธรรมนูญ ให้มีรัฐสภา ให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้ง ตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย ที่กระทำกันอยู่ในยุโรปขณะนั้น
        เมื่อเกิดปณิธานและความมุ่งหมาย ในการโค่นล้มพระราชบัลลังก์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นนี้ ผู้ริเริ่มก่อการปฎิวัติก็วางแผนชักจูงทหารทั่วประเทศ และเกลี้ยงกล่อมทหารเกณฑ์ที่เข้ารับราชการทุกรุ่น ให้มีความเข้าใจถึงความเป็นอยู่ของประเทศชาติ และความเสื่อมทรามในขณะนั้น และความเป็นไปของลัทธิประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ว่ามีประโยชน์อย่างไร รวมถึงอธิบายให้เขาเหล่านั้นเข้าใจถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน เพื่อให้บุคคลเหล่านั้น ได้แพร่ข่าวกระจายไปทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรตระหนักว่า ลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นลัทธิที่ไม่เหมาะสมแก่การปกครองประเทศ จนจะไม่มีเหลืออยู่แล้วในโลกนี้
        ผู้ริเริ่มก่อการปฎิวัติ ได้ใช้ดุลยพินิจอย่างหนักหน่วง ที่จะพยายามเลือกเฟ้นหาบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะที่จะเป็นผู้นำ และบุคคลที่จะเป็นผู้นำนั้น ควรจะเป็นบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมือง มีความคิดเห็นเป็นประชาธิปไตย และเด็ดขาด มีอุดมการณ์แน่วแน่ มีมโนธรรมสูง มีจิตใจเป็นมนุษยธรรม เห็นแก่ประโยชน์สุขของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และควรได้รับความเคารพจากทหารทุกชั้น ต่างก็ลงความเห็นร่วมกันว่า ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) เป็นทั้งนายแพทย์และนักรบ จากนักเรียนนายร้อยสำรอง ซึ่งเคยผ่านงานมาแล้วเป็นอย่างดี ทั้งกำลังจะเป็นแพทย์ประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ฯ และหม่อมแคทรีน พระชายา ตลอดจนครอบครัวในพระองค์ท่านด้วย
        ในการที่มีผู้เสนอ ขุนทวยหาญพิทักษ์ เป็นหัวหน้าคณะปฎิวัตินั้น นับว่าเป็นความคิดเห็นที่ถูกต้อง เพราะร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ ก็มีความเห็นเป็นทำนองเดียวกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะเปลี่ยนการปกครองเสียใหม่ เพื่อก้าวให้ทันเทียบกับนานาประเทศ และเพื่อนบ้าน และอีกทั้งในพระราชสำนักนั้น ก็เต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้ออันไร้สาระ ประเทศอยู่ในภาวะฝืดเคือง ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปในทำนองนั้นต่อไปอีก ไม่ทราบว่า บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรในอนาคต
        นอกจากจะมีทรรศนะไปในทางเดียวกันแล้ว ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ ยังเป็นบุคคลเด็ดขาด เข้มแข็ง สุภาพอ่อนโยน และเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ โอบอ้อมอารี อันเป็นนิสัยของแพทย์ทั่วไป และเพื่อเป็นการจูงใจให้นายทหารและนักเรียนนายร้อยทหารบกเข้ามาร่วมกำลังได้โดยง่าย จึงเห็นเป็นการสมควรยกย่องให้ ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ เป็นหัวหน้าคณะปฎิวัติ และท่านก็ยอมรับเป็นหัวหน้าโดยทันทีทันใด เพราะท่านก็มีความปรารถนา ในทำนองนั้นอยู่แล้ว
        วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ.2454 (ร.ศ. 130) ที่ศาลาพักร้อนภายในบริเวณบ้าน ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ ถนนสาธร ได้มีการประชุมปรึกษาหารือในการปฎิวัติกันเป็นครั้งแรก และเรียกคณะของตนว่า "คณะปฎิวัติ ร.ศ. 130" ในการริเริ่มครั้งนี้มีเพียง 7 คนเท่านั้น คือ
  1. ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์
  2. ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์
  3. ร้อยตรี จรูญ ษตะเมษ
  4. ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์
  5. ร้อนตรี ปลั่ง บูรณโชติ
  6. ร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ รัชนีกร
  7. ร้อยตรี เขียน อุทัยกุล
        การประชุมวางแผนโค่นล้มราชบัลลังก์ ครั้งแรกนี้พอสรุปได้ผลว่า จะต้องเปลี่ยนการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีสมาชิกบางคนที่หัวรุนแรงเห็นว่า ควรให้เป็นมหาชนรัฐอย่างจีนและสหรัฐฯ บางคนก็ไม่ต้องการให้รุนแรงขนาดนั้น เอาแต่เพียงว่า ขอให้องค์พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่นก็เพียงพอ และได้มีการถกถึงปัญหานี้อย่างกว้างขวาง จนหาข้อสรุปมิได้ จนในที่สุดก็ได้ตกลงกันว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันแสวงหาพรรคพวกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ไปพลางก่อน และในตอนท้ายได้กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า ให้รักษาความลับเรื่องนี้ไว้อย่างสุดชีวิต
        การประชุมครั้งที่สอง ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง ณ ที่เดิม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2454 คราวนี้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 20 คน โดยมีสมาชิกใหม่ 13 คน คือ
  1. พันตรี นายแพทย์ หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตะเวช)
  2. ร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง
  3. ร้อยโท เจือ ควกุล นายทหารเสนาธิการทหารบกที่1
  4. ร้อยโท ทองดำ คล้ายโอภาส นายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก
  5. ร้อยตรี บ๋วย บุณยรัตพันธ์
  6. ร้อยตรี ทวน เธียรพิทักษ์
  7. ร้อยตรี สอน วงค์โต
  8. ร้อยตรี สนิท
  9. นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  10. ร้อยตรี โกย วรรณกุล
  11. ร้อยตรี ปาน สุนทรจันทร์ (พระวิเศษโยธาบาล)
  12. ร้อยตรี ช้อย
  13. พ.ต. หลวงชัยพิทักษ์ นายทหารช่างที่1
        การประชุมครั้งที่สองนี้ มีร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ หัวหน้าคณะปฎิวัติ เป็นประธาน โดยพันตรี นายแพทย์ หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ ได้เสนอญัตติเป็นเรื่องพิเศษในที่ประชุมว่า การคิดปฎิวัติครั้งนี้ เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องความเป็นความตาย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงขอให้สมาชิกได้แสดงความสัตย์ต่อกัน ว่าจะไม่คิดทรยศหักหลังกันเอง ขอให้สมาชิกทุกคนให้สัตยาบันว่า จะซื่อสัตย์ต่อกันทุกเมื่อ ทุกโอกาส ทุกนาที โดยยอมพลีชีวิตเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมือง มิหวังผลอันมิชอบเพื่อการส่วนตัวด้วยประการทั้งปวง
        ครั้นแล้วพิธีสาบานปฎิญาณตนว่า จะซื่อตรงต่อกันจนวันสุดท้ายก็เริ่มขึ้น โดยสมาชิกคณะปฎิวัติได้ให้สัตย์ปฎิญาณพร้อมกันว่า.....
        " เราทั้งหลายเป็นผู้ก่อการด้วยกัน ต่างก็ได้คำนึงกันอยู่แล้วว่า ผลสำเร็จที่สุดนั้น ย่อมเป็นการยากมาก เพราะได้เห็นผลของการปฎิวัติมามากต่อมากนักแล้ว ซึ่งส่วนมากหากเป็นประเทศอื่นก็ดี เมื่อปรากฎว่ามีการปฎิวัติขึ้น คณะผู้ก่อการครั้งแรกนั้นมักจะถูกจับกุม หรือไม่ก็ได้รับการทรมาน และถูกประหารชีวิตเสียก่อนงานจะสำเร็จ โดยมากมักจะเป็นอยู่เช่นนี้ แต่จะอย่างไรก็ดี แม้ว่าพวกปฎิวัติยุคแรกจะเพลี่ยงพล้ำ หรือได้รับโทษอย่างแสนสาหัสก็ตาม แต่ก็ยังมีพวกคนรุ่นหลังคิดการสืบต่อเนื่องกันไป และผลก็มักจะสำเร็จ"
        การเสียสละครั้งนี้ เป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประเทศชาติและประชาชน เพื่อแก้ไขความเสื่อมโทรมของปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ ผลของการประชุมพอสรุปได้ดังนี้
        1 จะต้องรีบลงมือทำการปฎิวัติโดยเร็วที่สุด
        2 ระบอบการปกครองยังไม่เป็นที่ตกลงให้เลื่อนไปพิจารณาในกาประชุมครั้งต่อไป
        3 ให้สมาชิกทุกคนมีหน้าที่เกลี้ยกล่อม และหาสมาชิกใหม่ตามแนวเดิม ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด
        4 แบ่งหน้าที่กันไปตามความถนัด และความสามารถ เช่นหมอเหล็งทำหน้าที่ประสานงานกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ หมออัทย์ รับหน้าที่ฝ่ายการต่างประเทศ ร้อยโทจรูญ กับนายอุทัย ทางด้านกฎหมาย ร้อยโทเจือ ร้อยโททองดำ ด้านเสนาธิการ และเตรียมแผน ร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ รับหน้าที่ออกแบบเครื่องหมายต่างๆของคณะ และอาณัติสัญญาณ นายทหารนอกนั้นให้เป็นฝ่ายคุมกำลัง เมื่อลงมือปฎิวัติ
        5 ให้ทุกคนช่วยด้านกำลังเงินคนละ 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการนี้ การเงินมอบให้นายทะเบียน แล้วนายทะเบียนมอบให้หัวหน้าคณะ นายอุทัยได้มอบเงินให้หัวหน้าโดยตรงเป็นเงิน 1000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
        ต่อมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้น คณะปฎิวัติก็ได้ประชุมกันอีก ณ สถานที่เดิม เมื่อวันที่ 27 มกราคม มีสมาชิกมาประชุมกัน 31 คน สมาชิกใหม่ 11 คน คือ
1) ร้อยตรี วาส วาสนา
2) ร้อยตรี ถัด รัตนพันธ์
3) ร้อยตรี เหรียญ ทิพยรัตน์ทั้งสามคนนี้ ประจำกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์
4) ร้อยตรี สง่า เรขะรุจิ
5) ร้อยตรี จาบ
6) ร้อยตรี ปรีดา
7) ว่าที่ร้อยตรี ศิริ ชุณห์ประไพทั้งสี่คนนี้ประจำกรมทหาราบที่ 11 รักษาพระองค์
8) ร้อยตรี อ๊อด จุลานนท์
9) พ.อ. พระอร่ามรณชิต
10) ร้อยตรี หรี่ บุญสำราญ
11) ร้อยตรี สุดใจ
        การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายวางแผนได้กำหนดโครงการไว้ว่า จะลงมือทำการปฎิวัติในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาบันต้นเดือนเมษายน ตรงกับศกใหม่ ร.ศ. 130 ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งสมัยนั้น บรรดาข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องมีหน้าที่ถวายสัตย์ปฏิญาณสาบานตนต่อพระแก้วมรกต เฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ พระประมุขของชาติ ในท่ามกลางพระบรมวงศ์จักรี มุขอำมาตย์ ราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ และสมณะชีพราหมณาจารย์ ด้วยวิธีดื่มน้ำที่แช่ด้วยคมหอกคมดาบ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระประมุขของชาติ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งกายวาจาใจ โดยทั่วกันทุกคน และในโอกาสนี้คณะปฎิวัติจะใช้ปืนใหญ่ยิงขึ้นท้องสนามหลวงเป็นอาณัติสัญญาณ โดยกรมปืนใหญ่ที่1 รักษาพระองค์ และที่บางซื่อโดยกรมปืนใหญ่ที่ 2 เป็นสัญญาณให้หน่วยกำลังกล้าตายของคณะปฎิวัติ ได้รีบกระทำการทันที ให้เอาสนามหลวงเป็นแหล่งชุมนุมพลแหล่งใหญ่ ทางด้านกฎหมาย ก็ได้ทำการค้นคว้าหาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญนานาชาติ เพื่อร่างกฎหมายเตรียมการไว้อย่างพร้อมสรรพ
        มีการประชุมกันอีกหลายครั้ง และในครั้งที่4 นั้นก็มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายคน เช่น ร้อยตรี ลี้ ร้อยตรี ละม้าย ร้อยตรี สะอาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร้อยตรี บรรจบ ว่าที่ร้อยตรีชอุ่ม นาย เซี๊ยง สุวงค์ (พระยารามบัณฑิตสิทธิเศรณี) ร้อยตรี แช่ม ปานสีดำ
        การประชุมได้ดำเนินไปอีกหลายครั้ง และมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นายทหารหน่วยกำลังเป็นพรรคพวกคณะปฎิวัติเกือบทั้งสิ้น และนอกจากเผยแพร่หาสมัครพรรคพวกในพระนครแล้ว ยังขยายกว้างออกไปยังต่างจังหวัดอีกด้วย
        ในที่สุดคณะปฎิวัติก็มีสมัครพรรคพวกเพิ่มมากขึ้นทุกที ทหารที่จะมาอยู่ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาบันนั้น ทุกเหล่าพร้อมอาวุธ มาตั้งแถวเป็นเกียรติยศรับเสด็จพระราชดำเนินที่สนามหญ้าหลังวัดพระแก้ว ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และทหารราบที่11 รักษาพระองค์ที่ถือปืนติดดาบปลายปืน ยืนยามรักษาพระองค์อยู่หน้าประตูโบสถ์ ซึ่งที่จะอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวมากที่สุด คือทหารของคณะปฎิวัติทั้งสิ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายวางแผนได้ดำเนินการไปอย่างรัดกุมที่สุด
        และตามแผนของคณะปฎิวัตินั้น ทหารจะไม่ต่อสู้กันเลย แม้นายทหารจะออกคำสั่ง ทหารทั้งหลายจะตกอยู่ในการบังคับบัญชาของคณะปฎิวัติอย่างสิ้นเชิง และเพื่อความไม่ประมาท คณะปฎิวัติจึงต้องมีหน่วยกล้าตาย ออกทำการควบคุมตามจุดสำคัญๆ ไว้ด้วยทั้งสิ้น
        ในการปฎิวัติครั้งนี้ จุดมุ่งหมายอันใหญ่ยิ่งของคณะปฏิวัติ ก็คือ ไม่ต้องการให้มีการนองเลือดอย่างปฎิวัติในฝรั่งเศส และอังกฤษ ในสมัยพระเจ้าชาลส์ที่14 หรือการปฎิวัติโค่นล้มราชวงศ์แมนจู และการปฎิวัติในรัสเซีย เว้นแต่ว่าหลีกเลี่ยงมิได้
        จุดมุ่งหมายแรกคือการทูลเกล้าถวายหนังสือแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ให้ได้ทรงพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีพระบรมราชวินิฉัยให้เป็นไปตามหนังสือของคณะปฎิวัติ คือลดพระราชอำนาจลงมาอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ อันจะนำพาประเทศก้าวสู่ความก้าวหน้าเยี่ยงอารยะประเทศ แต่หากมิได้เป็นไปตามความมุ่งหมายนี้ คณะปฎิวัติก็จำเป็นจะต้องใช้กำลังรุนแรงก็อาจเป็นได้
        เนื่องจากการปฎิวัติครั้งนี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทหารในต่างจังหวัดด้วย เพราะทหารเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคอันใหญ่ยิ่งในการปฎิวัติครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้เอง คณะปฎิวัติจึงได้ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมทหารตามจังหวัดต่างๆ ไว้เป็นพวก โดยคณะปฎิวัติได้ตกลงกันว่า มณฑลอยุธยา มีหน่วยทหารกองพลที่ 3 ประจำอยู่ และอยู่ใกล้พระนคร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาไว้เป็นสมัครพรรคพวก จึงได้ให้ร้อยตรี ม.ร.ว.แช่ รัชนีกร ไปเกลี้ยกล่อม ส่วนในมณฑลอื่น เช่น มณฑลนครไชยศรี เป็นหน้าที่ของ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ กับ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ มณฑลราชบุรี เพชรบุรี ให้ ร.ต. บุญ แตงวิเชียร และ ร.ต.โกย ไปเกลี้ยกล่อม สำหรับมณฑลนครสวรรค์ มอบหมายให้ ร.ต.จันทร์ ปานสีแดง
        การไปเกลี้ยกล่อมทหารต่างจังหวัดนั้นได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนมากทหารหนุ่มยินดีให้ความร่วมมือด้วย แต่พวกนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั้นไม่เอาด้วย
        ร.ต. ทวน เธียรพิทักษ์ สมาชิกคณะปฎิวัติคนหนึ่งได้เสนอที่ประชุมว่า ได้ชักชวนสมาชิกใหม่คนหนึ่งไว้นานแล้ว ขณะนี้กำลังจะเดินทางไปรับตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชา ทหารปืนใหญ่ที่ 7 ที่พิษณุโลก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไว้ใจได้ บุคคลผู้นั้นคือ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ คงอยู่) แต่ ร.ต. เนตร ซึ่งเป็นเลขาธิการนุการคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ เคยเป็นศิษย์วัดเบญจมบพิตรมาด้วยกัน รู้นิสัยใจคอคนผู้นี้ดีว่าเป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ นิสัยโลเล พูดจาไม่แน่นอน ไม่จริงใจ เป็นคนน่ากลัว ชอบให้ร้ายป้ายสี ถ้าเอามาเป็นพวกก็เกรงว่า ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ อาจจะเป็นภัยแก่การปฎิวัติครั้งนี้ก็ได้
        คำคัดค้านของ ร.ต. เนตร ทำให้สมาชิกชักจะเริ่มลังเล เพราะบุคคลิกของ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ตามที่ ร.ต. เนตร ได้อ้างมานั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ มิใช่นักปฎิวัต
        อาจจะเป็นคราวเคราะห์ของคณะผู้ก่อการปฎิวัติ ร.ศ. 130 เพราะที่ประชุมไม่สามารถระงับไว้ได้ โดย ร.ต.ทวน ได้นำ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ เข้ามาในที่ประชุม ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในบ่ายของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2454 ขณะนั้นการประชุมได้ดำเนินไปก่อนหน้านั้นแล้ว จึงไม่สามารถระงับได้ทัน เพราะในระหว่างที่อยู่นั้น ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ก็โผล่เข้ามา ร.ต. ทวน รีบออกไปต้อนรับอย่างเพื่อนสนิท สมาชิกทั้งหลายต่างพลอยแสดงความยินดีไปด้วย เพราะล้วนแต่เคยรู้จักกันมาก่อนแล้วทั้งสิ้นและทันที่ที่ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ก้าวเข้าไปในที่ประชุม ก็ได้เกิดปรากฎการณ์แปลกประหลาด คือ แก้วนำยาอุทัยที่ตั้งอยู่กับพื้นเกิดแตกโพล๊ะเป็นสองท่อนขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ทุกคนถึงกับตกตะลึง และพากันเข้าใจว่า น่าจะเป็นลางร้าย แต่ ร.ท. เจือ ได้พยายามพูดจากลบเกลื่อนไปในทางที่ดีและเป็นสิริมงคลเสีย ทั้งหมดจึงได้คลายวิตกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประชุมกันต่อไป และมีพิธีสาบาน โดยเอาลูกกระสุนปืนแช่ในเหยือกน้ำ พร้อมกับคำสาปแช่งอย่างร้ายแรงว่า " ทุกคนจะต้องสุจริตต่อกัน ผู้ใดคิดการทรยศต่อคณะนี้จงพินาศ" จากนั้นก็รินน้ำสาบานให้ทุกคนดื่ม
        หมอเหล็ง ศรีจันทร์ ประธานในที่ประชุม ได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ในการปฎิวัติครั้งนี้ และแผนการณ์ต่างให้สมาชิกใหม่ทราบ โดย ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ มีความขัดข้องใจเรื่องราชวงศ์จักรี เกรงว่าจะกระทบกระเทือน ทำให้ประชาชนไม่พอใจ หมอเหล็ง ก็ได้อธิบายว่า
        " .....เป็นความจำเป็น เพราะทั่วโลกเขาก็ทำกันอย่างนี้ เพราะบ้านเมืองเต็มไปด้วยความยากจน ในราชสำนักนั้นก็ฟุ้งเฟ้อ ไม่ผิดอะไรกับราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 การกระทบกระเทือนย่อมต้องมีบ้าง เพียงแต่พระมหากษัตริย์ลดพระราชอำนาจลงมาอยู่ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น สำหรับประชาชนนั้นจะได้แถลงนโยบายให้ทราบโดยทั่วกัน และพวกเขาทุกคนน่าจะพอใจที่จะได้ปกครองตนเอง ตามระบบประชาธิปไตย ซึ่งคงไม่มีปฎิกิริยาจากประชาชนเป็นแน่ ..."
        ด้วยบุญญาธิการ อภินิหาร หรืออาจจะยังไม่ถึงคราวที่ราชวงศ์จักรีจะสิ้นอำนาจ ก็ตาม ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ที่ ร.ต. เนตร วิจารณ์ว่าเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจนั้น อาจจะไม่เห็นด้วยกับคณะปฎิวัติ หรือยังมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรืออาจจะเกรงกลัวอาญาแผ่นดิน หรือจะด้วยอะไรก็ตามแต่เถิด..... เพราะในที่สุด ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ก็จับเบอร์ได้เป็นผู้ที่จะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับจารพระราชวังสนามจันทร์ โดยทางรถไฟพระที่นั่ง ที่สถานีบางกอกน้อย อันเป็นแผนการณ์ของคณะปฎิวัติ ร.ศ.130 ตามที่ได้ตกลงกันไว้ และแผนต่อไปคือ การจับกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไว้เป็นหลักประกัน โดยแผนการณ์ครั้งนี้เป็นแผนการณ์ที่ค่อนข้างจะร้ายแรงมาก เป็นการเสี่ยงมากทีเดียว
        อาจเป็นเพราะ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ไม่เห็นด้วยกับแผนการณ์ในครั้งนี้ หรือเพราะ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ไม่มีหัวที่จะเป็นนักปฎิวัติ และยิ่งตนเองจะต้องเป็นผู้ลงมือด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ หนักใจยิ่งนัก และเมื่อหาทางออกอื่นไม่ได้แล้ว จึงได้ตัดสินใจนำความลับนี้ไปปรึกษา ร.ท. ทองอยู่ (พ.ท. พระตะบะ) มหาดเล็กคนโปรดของพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ
        เมื่อ ร.ท. ทองอยู่ (พ.ท. พระตะบะ) ได้ทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ก็พา ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ เข้าเฝ้าหม่อมเจ้าพันธุประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่1 รักษาพระองค์ที่บางซื่อ โดยหม่อมเจ้าพันธุประวัติ ได้นำความกราบทูลเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ในตอนเย็นวันนั้นเอง
        สมเด็จเจ้าฟ้าฯทรงทราบเรื่องก็รู้สึกวิตกพระทัยยิ่งนัก เพราะพระองค์ไม่ทรงได้คาดฝันมาก่อน เพราะบุคคลในคณะปฎิวัติ ร.ศ.130 นั้นเป็นลูกศิษย์ เป็นมหาดเล็กผู้ใกล้ชิด และตัวหมอเหล็งเองก็เป็นถึงแพทย์ประจำพระองค์ ซึ่งทรงโปรดปรานให้เข้าเฝ้าใกล้ชิด สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯจึงได้รีบรุดไปเข้าเฝ้ากราบบังคับทูล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โดยขบวนรถไฟพิเศษ
        เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เสด็จไปถึงก็รีบเข้าเฝ้าทูลเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวไปพบเพียงลำพังสองต่อสอง เพื่อกราบทูลพฤติการณ์สังหารโหด ของคณะปฎิวัติ ร.ศ. 130 ซึ่งมุ่งหมายจะเปลี่ยนการปกครอง มาเป็นลัทธิประชาธิปไตย และมีแผนสังหารพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับรับฟังด้วยพระทัยอันทรงพระวิตก จึงได้มีพระราชดำรัสให้ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ รีบดำเนินการกับผู้คิดร้ายต่อราชบัลลังก์โดยด่วนที่สุด ส่วนทางกองเสือป่าที่กำลังฝึกซ้อมอยู่ในขณะนั้น ก็สั่งให้เลิกซ้อมในทันทีทันใด
        การจับกุมตัวพวกคณะปฎิวัติ ได้กระทำกันอย่างรวดเร็วมาก โดยหลังจากที่กลับจากเข้าเฝ้ากราบบังคับทูลแล้ว ก็ได้ออกคำสั่งลับเฉพาะด่วนมาก เรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ผู้บังคับการขึ้นไป ณ ห้องประชุมกลาโหม สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯทรงเป็นประธาน โดยประตูห้องประชุมปิดหมด เพื่อมิให้ผู้ใดรู้เรื่องการประชุมในครั้งนี้
        เวลา 11.00 น. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ก็มีคำสั่งให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกทำการจับกุมพวกคณะปฎิวัติ ร.ศ. 130 โดยแบ่งเป็นสายๆ กว่าจะจับกุมตัวได้หมด ก็ใช้เวลาพอสมควร และได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการนองเลือดและต่อสู้ เพราะเหล่าพวกคณะปฎิวัตินั้นไม่เตรียมตัว เพราะต่างกำลังเฝ้าคอยข่าวคราวที่ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ จะไปปฎิบัติ ว่าจะได้ผลเพียงใด จึงมิได้เตรียมการณ์ป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งหมดจึงถูกจับกุมโดยละม่อม ปราศจากการขัดขวางและแข็งขืน หรือต่อสู้
        หลังจากจับกุมนักปฎิวัติได้ทั้งหมดแล้ว ก็มีพระบรมราชโองการ ให้ตั้งคณะกรรมการศาลทหารขึ้น โดยประกอบด้วย
  1. จอมพล พระยาบดินทร์เดชานุชิต (ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) ปลัดทูลฉลอง กระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
  2. พลเอก พระยาศักดาวรเดช (แย้ม ณ นคร ) จเรทหารบก
  3. พลตรี พระยาพิชัยสงคราม (เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร)
  4. น.อ. พระยาวิจิตรนาวี
  5. น.อ. พระยาสุนทรา (พระยาวินัยสุนทร) กรมพระธรรมนูญทหารเรือและนายทหารกรมพระธรรมนูญทหารเรืออีก 2 ท่าน


ภาพ:คณะผู้ปราบปรามผู้ก่อการกำเริบ.JPG
คณะผู้ปราบปรามผู้ก่อการกำเริบ
        โดยรัฐบาลได้ขนานนามกลุ่มนักปฎิวัติ ร.ศ. 130 กลุ่มนี้ว่า "สมาคมก่อการกำเริบ" ไม่ใช้คำว่ากบฎ และการคุมขังนั้นได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ คุมขังที่ต่างประเทศ คุมขังที่กระทรวงกลาโหม และคุมขังหรือกักบริเวณตามกรมกองต่างๆ
        การสอบสวนของคณะกรรมการศาลทหาร เริ่มด้วยการพิมพ์หัวข้อคำถาม 13 ข้อ ให้ผู้ต้องหาตอบชี้แจง คำถามเหล่านี้ส่งไปยังที่คุมขังทุกแห่ง แล้วรวบรวมคำตอบของผู้ต้องหาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเป็นกองๆ เพื่อค้นหาสาเหตุและหลักฐานของการกระทำผิด ของแต่ละบุคคล ว่าใครทำผิดหนักเบาต่างกันเพียงไร
        คณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ ใช้ห้องกลางมุขด้นหลังกระทรวงกลาโหมชั้น3 เป็นศาลทหาร พวกที่ถูกเรียกตัวมาสอบสวนที่ศาลทหารในกระทรวงกลาโหม ก็คือผู้ต้องหาประเภทที่1 ที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกต่างประเทศ ศาลได้ส่งกรรมการเข้าไปไต่สวน หรือเผชิญสืบภายในคุกเอง โดยทางเรือนจำได้จัดห้องพิเศษไว้ให้เป็นการเฉพาะ สำหรับเจ้าหน้าที่และกรรมการศาลทหาร การสอบสวนและสืบสวน ได้ดำเนินการกันอย่างเคร่งเครียด
        สำหรับคำให้การของหมอเหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะปฎิวัติ ร.ศ. 130 มีความตอนหนึ่งว่า
        " เพียงมีการหารือกันเพื่อทำหนังสือทูลเกล้าฯถวาย ในอันจะขอพระมหากรุณาธิคุณ ให้องค์พระมหากษัตริย์ ทรงปรับปรุงการปกครองให้สอดคล้องกับกาลสมัย โดยเปลี่ยนการปกครองเป็นลิมิเต็ดมอนากี้ มิได้มีการตระเตรียมกำลัง ที่จะยึดอำนาจแต่อย่างใด"
        กรรมการท้วงว่า...." ถ้าไม่มีกำลังทหารบีบบังคับแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงยินยอมหรือ..."
        หมอเหล็งได้อ้างถึงประเทศญี่ปุ่น ที่พระมหาจักรพรรดิทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชน ทำให้คณะกรรมการถึงกับอึ้งไป
        คำให้การของ ร.ท. เจือ เสนาธิการผู้วางแผนการณ์ ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับหมอเหล็ง ศรีจันทร์ แต่ได้เพิ่มเหตุผลบางประการเกี่ยวกับการทหาร โดยเกรงว่าจะไม่เป็นไปตามหลักวิชาเสนาธิปัตย์ ทุกคนได้ศึกษามาจากทูลกระหม่อมจักรพงษ์ฯ และผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการทหารในขณะนั้น
        คำให้การของ ร.ต. วาส วาสนา เป็นไปแบบขวานผ่าซากว่า..." ตามทัศนะของเขาเห็นว่า ราชการแผ่นดินสมัยนั้น เป็นประหนึ่งตุ๊กตาเครื่องเล่นของประเทศ จะยึดอะไรเป็นล่ำเป็นสันสักอย่างก็ไม่ได้ เขาเป็นมหาดเล็กได้เห็นพฤติกรรมในราชสำนักมาเป็นอย่างดี"
        คำให้การของ ร.ต. ถัด รัตนพันธ์ ว่า...." เขาพอใจที่จะคิดเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครอง เพราะการเล่นโขนเล่นละครเสียเองของประมุขแห่งชาตินั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเลย มีแต่เสื่อมเสียพระเกียรติคุณแก่นานาประเทศ และมีผลกระทบกระเทือนถึงชาติ และประชาชนอีกด้วย ควรให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นเขาแสดงและจัดการ การมีกองเสือป่าก็เช่นกัน ทำให้สิ้นเปลืองเงินของแผ่นดิน ทำให้ข้าราชการทหารและพลเรือนแตกร้าวกัน ซึ่งเคยมีตัวอย่างมาแล้วในประเทศเตอรกี...."
        ประธานแก้แทนองค์พระประมุขต่างๆ นานา ว่า..."คนเราจะทำงานอย่างเดียวตะพึดตะพือไปได้อย่างไร ต้องมีการเล่นหัวบ้าง เพื่อเป็นการหย่อนพระราชหฤทัย จะได้ทรงพระราชภาระได้ต่อไปอีกนานๆ..."
        สำหรับ ร.ท. เนตร นั้น แม้คณะกรรมการจะพยายามซักไว้อย่างไร ก็ปฎิเสธมาโดยตลอดและการพิจารณาในตอนแรก รัฐบาลลงโทษเพียง 3 ปี 5 ปีเท่านั้น แต่ก็มีเหตุที่ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง ออกกุศโลบายเพื่อข่มขู่รัฐบาล คือ ทำจดหมายขึ้นฉบับหนึ่ง มีใจความย่อๆว่า ถ้าสมาชิกคณะปฎิวัติถูกจำจอง หรือถูกคุมขัง แม้แต่คนเดียว ก็ให้ปืนใหญ่ 2 พร้อมกับเหล่าอื่นทำการได้ แล้วปาจดหมายให้ตกบริเวณกำแพงคุก ผู้คุมเก็บไว้ได้ และเสนอไปตามลำดับชั้น ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นกำลังพิจารณาคำพิพากษาของกรรมการศาลทหารอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็เลยทรงงดพระราชวินิจฉัยส่งกลับไป พร้อมกับจดหมายฉบับนั้น ให้กรรมการทำการสอบสวนกันใหม่ เพราะคณะปฎิวัติมิได้มีความประสงค์ จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองเท่านั้น กลับสมคบกันประทุษร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วย
        ร.ต. เจือ และ ร.ท. จรูญ ถูกคุมขังอุกฤษฎ์โทษ รวมทั้งคณะปฎิวัติทั้งหมดด้วย การสอบสวนครั้งที่2 ดำเนินต่อมาจนถึงเดือนพฤษถาคม 2454 คำพิพากษาของศาลทหาร ถวายขึ้นไปกราบทูลเป็นครั้งที่2 เพื่อขอพระราชวินิจฉัยขั้นเด็ดขาด
        เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 คณะกรรมการศาลทหารทั้ง 7 ท่าน ได้สนองพระราชโองการ นำคำพิพากษาไปอ่านให้ผู้ต้องหาในคุกต่างประเทศฟัง โดยมีผู้ต้องหาประเภทนี้ 10 คน
        คณะกรรมการศาลทหารเดินเข้าไปที่ประตูห้องขัง และกล่าวว่า...." พวกเธอทั้งหลาย คงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณดีแล้ว ที่โปรดยกโทษอุกฤษฎ์ให้ คงเหลือแต่จำคุกเท่านั้น หาใช่เพียงแต่เท่านั้นไม่ พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาแก่พวกเธอต่อไปอีกเป็นแน่ ถ้าพวกเธอได้ประพฤติตนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย อย่าได้กระทำการใด ซึ่งเป็นภัยแก่ตนเองอีก..."
        และในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้นเอง เวลา 14.00 น. คณะกรรมการก็ได้เบิกตัวผู้ต้องหาประเภทที่2-3 ประมาณ 13 คน คือ
  1. พ.ต. นายแพทย์หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตเวช)
  2. ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส
  3. ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์
  4. ร.ต. ปลั่ง บูรณะโชติ
  5. ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์
  6. ร.ต. เหรียญ ทิพยรัตน์
  7. ร.ต. จรูญ ษตะเมษ
  8. ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์
  9. ร.ต. สอน วงษ์โต
  10. ร.ต. โกย วรรณกุล
  11. ร.ต. จันทร์ ปานดำ
  12. ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์
  13. ร.ต. ศิริ ชณหประไพ
        ทุกคนอยู่ในชุดทหารตามยศ แต่ไม่ขัดกระบี่ เพื่อไปฟังคำพิพากษา และพระบรมราชวินิจฉัยเด็ดขาด แต่ทุกคนอยู่ในอาการสงบ เพราะทราบดีอยู่แล้วว่า จะมีเหตุร้ายดีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต ต่อมาทุกคนถูกถอดเครื่องแบบออกหมด และมีการสวมกุญแจมือ ก่อนที่จะเข้าไปในห้องประชุม
        ต่อมาคณะกรรมการก็เข้านั่งโต๊ะพร้อมกัน พระยาพิชัยสงคราม เป็นผู้อ่านคำพิพากษา ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2454 มีใจความสำคัญดังนี้
        "เรื่องก่อการกำเริบ ตามที่คณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว เรื่องเดิมมีนายทหารบกบ้าง ทหารเรือบ้าง พลเรือนที่ทำงานอยู่ในกระทรวงยุติธรรมบ้าง ได้สมคบคิดกัน ด้วยมูลความประสงค์คิดจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองของพระราชอาณาจักร ได้ประชุมตั้งสมาคม เมื่อเดือนมกราคม ร.ศ.130 แล้วได้ประชุมกันต่อๆมาอีก ราว 8 คราว ตระเตรียมกันทำการกบฎ ถึงประทุษร้ายพระเจ้าแผ่นดิน กระทรวงกลาโหมทราบเรื่องนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ.130 จึงได้จับนายทหารบกซึ่งเป็นหัวหน้า และคนสำคัญในสมาคมนี้ จัดการไต่สวนตลอดจนพรรคพวก กระทรวงกลาโหมได้ทำรายงานตามที่ไต่สวน และนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารบก ทหารเรือ รวม 7 นาย เป็นกรรมการพิจารณาทำคำปรึกษาโทษ ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา มีใจความที่วินิจฉัย ตามที่ได้พิจารณาได้ความว่า ผู้ที่รวมคบคิดในสมาคมนี้ มีความเห็นจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นลีพับปิกบ้าง เป็นลิมิเต็ดมอนากี้บ้าง ส่วนที่จะจัดการอย่างไร จึงจะเปลี่ยนแปลงการปกครองได้นั้น ปรากฎอยู่ในที่ประชุมถึงการกระทำการประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องนี้เดิมทีดูเหมือนสมาคมนี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อจะเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง แต่ครั้นพิจารณาตลอดแล้วกลับได้ความว่า สมคบกันเพื่อประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย แม้บางคนจะไม่มีเจตนาโดยตรง ที่จะประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี แต่ได้สมรู้เป็นใจและช่วยปกปิด เพราะฉะนั้น ตามลักษณะความผิดนี้ กระทำผิดต่อกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 97 ตอนที่2 มีโทษประหารชีวิตด้วยกันทุกคน บางคนกระทำผิดมาก ไม่สมควรได้ลดโทษเลย แต่บางคนกระทำผิดน้อยบ้าง ได้ให้การสารภาพให้เป็นประโยชน์ในทางการพิจารณาบ้าง และมีเหตุผลอื่นสมควรได้ลดหย่อนความผิดบ้าง อันเป็นเหตุควรลดโทษฐานปราณี ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 37 และมาตรา 59 จึงกำหนดโทษ 5 ขั้น ดังนี้
        ชั้นที่ 1. ให้ลงโทษประหารชีวิต 3 คน
        ชั้นที่ 2. ลดโทษลง เพียงจำคุกตลอดชีวิต 20 คน
        ชั้นที่ 3. ลดโทษลง เพียงจำคุกมีกำหนด 20 ปี 32 นาย
        ชั้นที่ 5. ลดโทษลง เพียงจำคุกมีกำหนด 12 ปี 30 คน
        มีผู้ต้องคำพิพากษาศาลทหารเพียง 91 คนเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยเด็ดขาด ลงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ดังนี้
        "ได้ตรวจคำพิพากษาของศาลทหาร ซึ่งได้พิจารณาปรึกษาโทษคดีผู้มีชื่อ 91 คน ก่อการกำเริบ ลงวันที่ 4 พฤษภาคมนั้นตลอดแล้ว เห็นว่ากรรมการพิจารณาพวกเหล่านั้น ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการแล้ว แต่ความผิดของพวกเหล่านี้มีข้อสำคัญที่จะทำร้ายต่อเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทคาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินที่จะยกโทษให้ได้ เพราะฉะนั้น บรรดาผู้มีชื่อ 3 คน ซึ่งวางโทษไว้ในคำพิพากษาของกรรมการ ว่าเป็นฐานชั้นที่1 ให้ประหารชีวิตนั้น ให้ลดโทษเป็นโทษชั้นที่ 2 ให้จำคุกตลอดชีวิต"
        "บรรดาผู้มีชื่อ 20 คน ซึ่งลงโทษไว้เป็นชั้นที่2 ให้จำคุกตลอดชีวิตนั้น ให้ลดโทษลงเป็นชั้นที่3 ให้จำคุกคนละ 20 ปี ตั้งแต่วันนี้สืบไป
        บรรดาผู้มีชื่อ 68 คน ซึ่งวางโทษไว้ในชั้นที่3 ให้จำคุก 20 ปี 32 คน และวางโทษชั้นที่4 ให้จำคุก 15 ปี 6 คน และวางโทษชั้นที่5 ให้จำคุก 12 ปี 30 คนนั้น ให้รอลงอาญา ทำนองอย่างที่ได้กล่าวในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 41 และ 42 ซึ่งว่าด้วยการลงโทษทางอาญาในโทษอย่างน้อยนั้น อละอย่าเพ่อให้ออกจากตำแหน่งก่อน
        แต่ผู้มีชื่อ 3 คน ที่ได้ลงโทษในชั้นที่2 กับผู้มีชื่ออีก 20 คน ที่ได้ลงโทษในชั้นที่3 รวม 23 คนดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ให้ถอดออกจากตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ ตามอย่างธรรมเนียมซึ่งเคยมีแก่นักโทษเช่นนั้น"
        ในจำนวนผู้ที่ต้องรับพระราชอาญาจำคุก 32 คนนั้น เป็นพลเรือนคนหนึ่งคือ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา กองล่ามกระทรวงยุติธรรม นอกนั้นเป็นทหารบก 22 คน ให้ถอดออกจากยศบรรดาศักดิ์แล้ว คือ
จำคุกตลอดชีวิต
  1. ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)
  2. ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง
  3. ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์
จำคุก 20 ปี
  1. ร.ท. เจือ ควกุล
  2. ร.ต. เขียน อุทัยกุล
  3. ร.ต. วาส วาสนา
  4. ร.ต. ถัด รัตนพันธ์
  5. ร.ต. ม.ร.ว. แช่ รัชนีกร
  6. ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์
  7. ร.ต. เหรียญ ทิพยรัตน์
  8. ร.ต. ทวน เธียรพิทักษ์
  9. ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์
  10. ร.ต. สอน วงค์โต
  11. ร.ต. ปลั่ง บูรณโชติ
  12. ร.ต. จรูญ ษตะเมษ
  13. ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส
  14. ร.ต. บ๋วย บุณยรัตนพันธ์
  15. ว่าที่ ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ
  16. ร.ต. จันทร์ ปานสีดำ
  17. ร.ต. โกย วรรณกุล
  18. พ.ต. หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์
  19. ร.ต. บุญ แดงวิเชียร

งานชิ้นที่ 4 เหตุการณ์กบฎ ร.ศ 130 (กบฎเหล็ง ศรีจันทร์)

เหตุการณ์กบฎ ร.ศ 130 (กบฎเหล็ง ศรีจันทร์)
กบฏ ร.ศ.130
 
         กบฏ ร.ศ. 130 เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นานถึง 24 ปี โดยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2455 (ร.ศ. 130) เมื่อนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการแตกเสียก่อน จึงมีการจับกุมผู้คิดก่อการหลายคนไว้ได้ มีการพิจารณาตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต แต่ท้ายที่สุดได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ด้วยทรงเห็นว่าผู้ก่อการมิได้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์
        คณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน 7 คน คือ
  1. ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) เป็นหัวหน้า
  2. ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ จาก กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
  3. ร.ต.จรูญ ษตะเมษ จากกองปืนกล รักษาพระองค์
  4. ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์
  5. ร.ต.ปลั่ง บูรณโชติ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์
  6. ร.ต.หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร จาก โรงเรียนนายสิบ
  7. ร.ต.เขียน อุทัยกุล จาก โรงเรียนนายสิบ
        คณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และวันขึ้นปีใหม่ ผู้ที่จับฉลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์ คือ ร.อ.ยุทธ คงอยู่ เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้ง สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
        ความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษ ที่สร้างขึ้นใหม่ และได้รับพระราชทานอภัยโทษในพระราชพิธีฉัตรมงคล เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ครบรอบปีที่ 15 ของการครองราชย์

[แก้ไข] ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจาก

        เมื่อตอนปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 พ.ศ. 2452 ได้เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างทหารราบที่ 1 กับพวกมหาดเล็กบางคนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในการที่ได้มีเหตุวิวาทนั้น ได้ความว่า เพราะเรื่องหญิงขายหมากคนหนึ่ง การทะเลาะวิวาทกันอย่างฉกรรจ์นี้ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงทราบ ก็ได้รับสั่งให้ผู้บังคับบัญชาการทหารราบที่ 2 ทำการสอบสวน และภายหลังการสอบสวนได้ความว่า หัวหน้าคือ ร.อ. โสม ซึ่งให้การรับสารภาพ ดังนั้น ร.อ.โสม กับพวกอีก 5 คน จึงถูกคุมขัง เพื่อรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาต่อไป
        สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระบรมชนกนาถ ขอให้ลงพระอาญาเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้นตามจารีตประเพณีนครบาล ในการกระทำอุกอาจถึงหน้าประตูวังของรัชทายาท แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วย เสด็จในกรมราชบุรี นักกฏหมายได้ชี้แจงว่า ควรจะจัดการไปตามกฏหมาย เพราะได้ใช้ประมวลกฏหมายอาญาเยี่ยงอารยประเทศแล้ว จึงไม่ควรนำเอาจารีตนครบาล ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้อีก แต่คำคัดค้านทั้งหลายไม่เป็นผล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังทรงยืนกรานจะให้โบยหลังให้ได้ มิฉะนั้นจะทรงลาออกจากตำแหน่งองค์รัชทายาททันที สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงเห็นการณ์ไกลว่า ถ้าไม่ตามพระทัย เรื่องอาจจะลุกลามกันไปใหญ่โต จึงทรงอนุมัติไปตามคำขอ
        จากพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ทหารทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง นักเรียนนายร้อยทหารบก พากันไม่ยอมเข้าเรียน แต่ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกขณะนั้น คือสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ได้ทรงอธิบายปลอบโยน ด้วยข้อความอันซาบซึ้งตรึงใจ นักเรียนนายร้อยเหล่านั้นจึงได้ยอมเข้าเรียนตามปกติ แล้วเหตุการณ์นั้นก็ผ่านไป
        ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2453 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งกองเสือป่าขึ้น และเอาพระทัยใส่ในกิจการนี้เป็นอย่างดี นายทหารรุ่นที่สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยรุ่นปลาย ร.ศ.128 เรียกรุ่นนั้นว่า "ร.ศ.129" ก็ได้เข้าประจำการตามกรมกองต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร บางคนยังไม่ลืมเหตุการณ์เฆี่ยนหลังนายทหารตั้งแต่คราวนั้น และยังสะเทือนใจอยู่ และประกอบกับมีความรู้สึกว่า "กองเสือป่า" ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งนั้น ก็มิใช่ลูกเลือ เป็นกิจกรรมที่ตั้งซ้ำกับการทหาร และยังทำงานชิงดีชิงเด่นกับทหารแห่งชาติเสียด้วย ย่อมทำให้ความมั่นคงของชาติเสื่อมสลายลงเป็นอย่างมาก
        เสือป่าในกองนั้น ส่วนมากก็คือราชการในพระราชสำนัก เป็นกองที่ทรงสนพระทัยอย่างใกล้ชิด จนคนภายนอกที่ไม่ได้เข้า หรือเข้าไม่ได้ ต่างพากันคิดผิดไป จนเกิดความริษยา ในขั้นแรกที่ว่าการเสือป่าในกรุงเทพฯ ก็โปรดปรานให้มีสโมสรเป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จที่สโมสรเสือป่าเกือบทุกวัน เพื่อทอดพระเนตรการฝึก สำหรับสโมสรเสือป่านั้น เสื่อป่าทุกชั้น จนถึงพลเสือป่าถึงเข้าเป็นสมาชิกได้ ข้าราชการและคนอื่นๆ จึงนิยมสมัครเข้าเป็นเสือป่า แต่ผู้ที่เป็นทหารประจำการอยู่แล้ว เข้าไปในสโมสรเสือป่าไม่ได้ ก็เกิดมีความเสียใจว่า ทหารถูกกีดกันไม่ให้เข้าใกล้พระเจ้าอยู่หัว จึงอยากจะเป็นสมาชิกสโมสรเสือป่าบ้าง เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ และเพราะน้ำพระทัยอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณา จึงโปรดให้ทหารเข้าเป็นสมาชิกสโมสรนั้นได้ โดยต้องสมัครเป็นเสือป่าด้วย เพราะการเป็นนายทหารสัญญาบัตร มิได้หมายความว่าเป็นนายเสือป่าสัญญาบัตรด้วย จึงเกิดเป็นภาพที่ออกจะแปลก เมื่อนายทหารสัญญาบัตร ถึงชั้นอาวุโสในกองทัพบก ทัพเรือ ในตอนเย็นกลับกลายเป็นพลเสือป่าไปฝึกอยู่ที่หน้าสโมสร พระราชวงศ์ถวายการสนับสนุนเรื่องกองเสือป่าเป็นอย่างดี และมักจะได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการพิเศษ กรมเสื่อป่ารักษาดินแดนมณฑล เช่นทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ทรงเป็นนายกกองเอกพิเศษ ของกองรักษาดินแดนมณฑลพิษณุโลก ทูลกระหม่อมบริพัตร เป็นของมณฑลนครสวรรค์ เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นในตอนต้นๆ ก็ไม่ทำให้ทหารเลิกรังเกียจเสือป่าได้
        แต่ความไม่พอใจของทหารหนุ่มหมู่หนึ่งนั้นยิ่งทวีขึ้น เพราะมองเห็นว่า กิจการของกองเสือป่านั้น ไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ประเทศชาติบ้านเมือง และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยไม่จำเป็น เป็นเหตุให้การเศรษฐกิจการคลังของประเทศอยู่ในฐานะฝืดเคือง และเป็นการทรมานข้าราชการผู้เฒ่าชราอย่างน่าสงสาร ทั้งยังทำให้กิจการงานเมืองฝ่ายทหาร และพลเรือนต้องอลเวงสับสน ไม่เป็นอันประกอบกิจการงาน เป็นการเสียทรัพย์ เสียเวลา เสียงานของชาติ และบุคคลบางจำพวกที่อยู่ในราชสำนักขณะนั้น ไม่ทราบซึ่งในพระมหากรุณาธิคุณ ของเจ้านายของตนเพียงพอ ปฎิบัติประพฤติตนไปในทำนองผยองตน ต่อข้าราชการและพลเมืองของชาติ ที่ยังจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ของเขาอย่างแนบแน่น จนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ก็ลงบทความตำหนิ จนผู้ที่มีใจเป็นธรรมต้องเข้าร่วมเป็นพรรคพวกกับทหารหนุ่มๆ เหล่านั้นด้วย แม้แต่กระทั้ง เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระอนุชาของพระองค์ ก็ได้ทรงแสดงพระอาการไม่เป็นที่พอพระทัยมาก จนออกหน้าออกตาความไม่พอใจได้เพิ่มทวียิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ.2454 หรือ ร.ศ. 130 พวกคิดก่อการโค่นล้มพระราชบัลลังก์ ได้เพิ่มพูนความไม่พอใจขึ้นอีก ด้วยเรื่องของความอิจฉาริษยาเสือป่า ซึ่งถือว่าเป็นหมู่ชนที่ได้รับการโปรดปรานยิ่งกว่าหมู่อื่น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการตระเตรียมการปฎิวัติขึ้น และแผนการณ์ปฎิวัตินั้นอยู่ในขั้นรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับจะลอบปลงพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยทีเดียว สมุหฐานที่สำคัญ ในการปฎิวัติครั้งนี้ ที่พอสรุปได้มีดังนี้ คือ
        1) เนื่องจากพวกจักรวรรดินิยม กดขี่ข่มเหงประเทศต่างๆ ในเอเซีย และได้แลเห็นประเทศจักรวรรดินิยมเหล่านั้น มีความเจริญในด้านต่างๆ จนสามารถปราบปรามประเทศต่างๆในเอเซีย และเรียนรู้การปกครองของประเทศจักรวรรดินิยมเขาทำกันอย่างไร จึงมีความปรารถนาจะให้ประเทศของตนเป็นไปอย่างยุโรปบ้าง
         2) พวกคณะปฎิวัติได้เห็นประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้า ภายหลังที่ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย จนสามรถรบชนะจีนและรัสเซีย จึงต้องการให้ประเทศสยามมีความก้าวหน้าอย่างนั้นบ้าง
        3) เมื่อเห็น ดร.ซุนยัดเซน โค่นบัลลังก์แมนจู เป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะปฎิวัติ ร.ศ. 130 ต้องการให้ประเทศสยามเป็นเช่นนั้นบ้าง
        4) คณะปฎิวัติเล็งเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ่อนแอเหมือนพระเจ้าหลุยส์ที่14 ไม่สนพระทัยในกิจการบ้านเมือง จึงคิดจะปฎิวัติ เพื่อปรับปรุงประเทศอย่างตะวันตก
        5) ทหารถูกเหยียดหยาม
        6) ความเป็นไปในราชสำนักฟุ่มเฟือย ไร้สารัตถะ
        7) ความสิ้นเปลืองเงินแผ่นดินไปโดยไร้ประโยชน์ และมีเหตุอันไม่บังควร
        8) มีการแบ่งชั้นวรรณะ ระหว่างผู้ที่เรียกตนเองว่าเจ้า กับไพร่
        9) ขุนนางผู้ใหญ่ มีความเสื่อมทรามเหลวแหลก
        10) ข้าราชการทำงานเอาตัวรอดไปวันๆ โดยไม่คิดถึงประเทศชาติและบ้านเมือง
        11) ราษฎรไม่ได้รับการบำรุงส่งเสริมอย่างจริงจัง
        12) ชาวไร่ ชาวนา ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการส่งเสริมช่วยเหลือให้ดีขึ้นตามสมควร
        13) ทุพภิกขภัย ความอดอยากหิวโหย แผ่ซ่านไปในหมู่กสิกร เมื่อดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูก
        14) ทั้งที่เกิดความอดอยากยากจนอยู่ทั่วประเทศ แต่ทางราชการกลับเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ราษฎรประสบความเดือดร้อนอย่างสาหัส
        15) ผู้รักษากฎหมายใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ ประชาชนพลเมือง
        16) กดการศึกษาของพลเมือง เพื่อมิให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เทียบเท่าชนชั้นผู้ปกครอง
        17) ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองขาดการทำนุบำรุง
ภาพ:คณะปฎิวัติ_ร.ศ._130.JPG
คณะปฎิวัติ ร.ศ. 130
        บุคคลคณะนี้ เป็นนายทหารที่รักความก้าวหน้า และปรารถนาที่จะให้ประเทศชาติมีการปกครองเช่นเดียวกับจีนและญี่ปุ่น และต้องการให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย บุคคลที่เป็นหัวหน้าคิดการใหญ่ครั้งนี้คือ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์ ) นายแพทย์ประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก และยังเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ เสด็จในกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นหัวหน้าดำเนินการและริเริ่ม พร้อมด้วย ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ซึ่งเป็นนายทหารสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อย ประจำการอยู่ที่กรมทหารราบที่ 12 มณฑลนครไชยศรี
        นายทหารทั้งสองนี่ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะให้ประเทศมีการปกครองตนเอง เปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จะนำเอาแบบอย่างนานาอารยะประเทศมาใช้ จะปรับปรุงการศึกษา และการทหารเสียใหม่ จะให้สิทธิและเสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ ให้มีรัฐธรรมนูญ ให้มีรัฐสภา ให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้ง ตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย ที่กระทำกันอยู่ในยุโรปขณะนั้น
        เมื่อเกิดปณิธานและความมุ่งหมาย ในการโค่นล้มพระราชบัลลังก์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นนี้ ผู้ริเริ่มก่อการปฎิวัติก็วางแผนชักจูงทหารทั่วประเทศ และเกลี้ยงกล่อมทหารเกณฑ์ที่เข้ารับราชการทุกรุ่น ให้มีความเข้าใจถึงความเป็นอยู่ของประเทศชาติ และความเสื่อมทรามในขณะนั้น และความเป็นไปของลัทธิประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ว่ามีประโยชน์อย่างไร รวมถึงอธิบายให้เขาเหล่านั้นเข้าใจถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน เพื่อให้บุคคลเหล่านั้น ได้แพร่ข่าวกระจายไปทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรตระหนักว่า ลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นลัทธิที่ไม่เหมาะสมแก่การปกครองประเทศ จนจะไม่มีเหลืออยู่แล้วในโลกนี้
        ผู้ริเริ่มก่อการปฎิวัติ ได้ใช้ดุลยพินิจอย่างหนักหน่วง ที่จะพยายามเลือกเฟ้นหาบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะที่จะเป็นผู้นำ และบุคคลที่จะเป็นผู้นำนั้น ควรจะเป็นบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมือง มีความคิดเห็นเป็นประชาธิปไตย และเด็ดขาด มีอุดมการณ์แน่วแน่ มีมโนธรรมสูง มีจิตใจเป็นมนุษยธรรม เห็นแก่ประโยชน์สุขของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และควรได้รับความเคารพจากทหารทุกชั้น ต่างก็ลงความเห็นร่วมกันว่า ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) เป็นทั้งนายแพทย์และนักรบ จากนักเรียนนายร้อยสำรอง ซึ่งเคยผ่านงานมาแล้วเป็นอย่างดี ทั้งกำลังจะเป็นแพทย์ประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ฯ และหม่อมแคทรีน พระชายา ตลอดจนครอบครัวในพระองค์ท่านด้วย
        ในการที่มีผู้เสนอ ขุนทวยหาญพิทักษ์ เป็นหัวหน้าคณะปฎิวัตินั้น นับว่าเป็นความคิดเห็นที่ถูกต้อง เพราะร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ ก็มีความเห็นเป็นทำนองเดียวกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะเปลี่ยนการปกครองเสียใหม่ เพื่อก้าวให้ทันเทียบกับนานาประเทศ และเพื่อนบ้าน และอีกทั้งในพระราชสำนักนั้น ก็เต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้ออันไร้สาระ ประเทศอยู่ในภาวะฝืดเคือง ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปในทำนองนั้นต่อไปอีก ไม่ทราบว่า บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรในอนาคต
        นอกจากจะมีทรรศนะไปในทางเดียวกันแล้ว ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ ยังเป็นบุคคลเด็ดขาด เข้มแข็ง สุภาพอ่อนโยน และเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ โอบอ้อมอารี อันเป็นนิสัยของแพทย์ทั่วไป และเพื่อเป็นการจูงใจให้นายทหารและนักเรียนนายร้อยทหารบกเข้ามาร่วมกำลังได้โดยง่าย จึงเห็นเป็นการสมควรยกย่องให้ ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ เป็นหัวหน้าคณะปฎิวัติ และท่านก็ยอมรับเป็นหัวหน้าโดยทันทีทันใด เพราะท่านก็มีความปรารถนา ในทำนองนั้นอยู่แล้ว
        วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ.2454 (ร.ศ. 130) ที่ศาลาพักร้อนภายในบริเวณบ้าน ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ ถนนสาธร ได้มีการประชุมปรึกษาหารือในการปฎิวัติกันเป็นครั้งแรก และเรียกคณะของตนว่า "คณะปฎิวัติ ร.ศ. 130" ในการริเริ่มครั้งนี้มีเพียง 7 คนเท่านั้น คือ
  1. ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์
  2. ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์
  3. ร้อยตรี จรูญ ษตะเมษ
  4. ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์
  5. ร้อนตรี ปลั่ง บูรณโชติ
  6. ร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ รัชนีกร
  7. ร้อยตรี เขียน อุทัยกุล
        การประชุมวางแผนโค่นล้มราชบัลลังก์ ครั้งแรกนี้พอสรุปได้ผลว่า จะต้องเปลี่ยนการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีสมาชิกบางคนที่หัวรุนแรงเห็นว่า ควรให้เป็นมหาชนรัฐอย่างจีนและสหรัฐฯ บางคนก็ไม่ต้องการให้รุนแรงขนาดนั้น เอาแต่เพียงว่า ขอให้องค์พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่นก็เพียงพอ และได้มีการถกถึงปัญหานี้อย่างกว้างขวาง จนหาข้อสรุปมิได้ จนในที่สุดก็ได้ตกลงกันว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันแสวงหาพรรคพวกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ไปพลางก่อน และในตอนท้ายได้กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า ให้รักษาความลับเรื่องนี้ไว้อย่างสุดชีวิต
        การประชุมครั้งที่สอง ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง ณ ที่เดิม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2454 คราวนี้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 20 คน โดยมีสมาชิกใหม่ 13 คน คือ
  1. พันตรี นายแพทย์ หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตะเวช)
  2. ร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง
  3. ร้อยโท เจือ ควกุล นายทหารเสนาธิการทหารบกที่1
  4. ร้อยโท ทองดำ คล้ายโอภาส นายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก
  5. ร้อยตรี บ๋วย บุณยรัตพันธ์
  6. ร้อยตรี ทวน เธียรพิทักษ์
  7. ร้อยตรี สอน วงค์โต
  8. ร้อยตรี สนิท
  9. นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  10. ร้อยตรี โกย วรรณกุล
  11. ร้อยตรี ปาน สุนทรจันทร์ (พระวิเศษโยธาบาล)
  12. ร้อยตรี ช้อย
  13. พ.ต. หลวงชัยพิทักษ์ นายทหารช่างที่1
        การประชุมครั้งที่สองนี้ มีร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ หัวหน้าคณะปฎิวัติ เป็นประธาน โดยพันตรี นายแพทย์ หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ ได้เสนอญัตติเป็นเรื่องพิเศษในที่ประชุมว่า การคิดปฎิวัติครั้งนี้ เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องความเป็นความตาย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงขอให้สมาชิกได้แสดงความสัตย์ต่อกัน ว่าจะไม่คิดทรยศหักหลังกันเอง ขอให้สมาชิกทุกคนให้สัตยาบันว่า จะซื่อสัตย์ต่อกันทุกเมื่อ ทุกโอกาส ทุกนาที โดยยอมพลีชีวิตเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมือง มิหวังผลอันมิชอบเพื่อการส่วนตัวด้วยประการทั้งปวง
        ครั้นแล้วพิธีสาบานปฎิญาณตนว่า จะซื่อตรงต่อกันจนวันสุดท้ายก็เริ่มขึ้น โดยสมาชิกคณะปฎิวัติได้ให้สัตย์ปฎิญาณพร้อมกันว่า.....
        " เราทั้งหลายเป็นผู้ก่อการด้วยกัน ต่างก็ได้คำนึงกันอยู่แล้วว่า ผลสำเร็จที่สุดนั้น ย่อมเป็นการยากมาก เพราะได้เห็นผลของการปฎิวัติมามากต่อมากนักแล้ว ซึ่งส่วนมากหากเป็นประเทศอื่นก็ดี เมื่อปรากฎว่ามีการปฎิวัติขึ้น คณะผู้ก่อการครั้งแรกนั้นมักจะถูกจับกุม หรือไม่ก็ได้รับการทรมาน และถูกประหารชีวิตเสียก่อนงานจะสำเร็จ โดยมากมักจะเป็นอยู่เช่นนี้ แต่จะอย่างไรก็ดี แม้ว่าพวกปฎิวัติยุคแรกจะเพลี่ยงพล้ำ หรือได้รับโทษอย่างแสนสาหัสก็ตาม แต่ก็ยังมีพวกคนรุ่นหลังคิดการสืบต่อเนื่องกันไป และผลก็มักจะสำเร็จ"
        การเสียสละครั้งนี้ เป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประเทศชาติและประชาชน เพื่อแก้ไขความเสื่อมโทรมของปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ ผลของการประชุมพอสรุปได้ดังนี้
        1 จะต้องรีบลงมือทำการปฎิวัติโดยเร็วที่สุด
        2 ระบอบการปกครองยังไม่เป็นที่ตกลงให้เลื่อนไปพิจารณาในกาประชุมครั้งต่อไป
        3 ให้สมาชิกทุกคนมีหน้าที่เกลี้ยกล่อม และหาสมาชิกใหม่ตามแนวเดิม ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด
        4 แบ่งหน้าที่กันไปตามความถนัด และความสามารถ เช่นหมอเหล็งทำหน้าที่ประสานงานกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ หมออัทย์ รับหน้าที่ฝ่ายการต่างประเทศ ร้อยโทจรูญ กับนายอุทัย ทางด้านกฎหมาย ร้อยโทเจือ ร้อยโททองดำ ด้านเสนาธิการ และเตรียมแผน ร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ รับหน้าที่ออกแบบเครื่องหมายต่างๆของคณะ และอาณัติสัญญาณ นายทหารนอกนั้นให้เป็นฝ่ายคุมกำลัง เมื่อลงมือปฎิวัติ
        5 ให้ทุกคนช่วยด้านกำลังเงินคนละ 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการนี้ การเงินมอบให้นายทะเบียน แล้วนายทะเบียนมอบให้หัวหน้าคณะ นายอุทัยได้มอบเงินให้หัวหน้าโดยตรงเป็นเงิน 1000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
        ต่อมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้น คณะปฎิวัติก็ได้ประชุมกันอีก ณ สถานที่เดิม เมื่อวันที่ 27 มกราคม มีสมาชิกมาประชุมกัน 31 คน สมาชิกใหม่ 11 คน คือ
1) ร้อยตรี วาส วาสนา
2) ร้อยตรี ถัด รัตนพันธ์
3) ร้อยตรี เหรียญ ทิพยรัตน์ทั้งสามคนนี้ ประจำกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์
4) ร้อยตรี สง่า เรขะรุจิ
5) ร้อยตรี จาบ
6) ร้อยตรี ปรีดา
7) ว่าที่ร้อยตรี ศิริ ชุณห์ประไพทั้งสี่คนนี้ประจำกรมทหาราบที่ 11 รักษาพระองค์
8) ร้อยตรี อ๊อด จุลานนท์
9) พ.อ. พระอร่ามรณชิต
10) ร้อยตรี หรี่ บุญสำราญ
11) ร้อยตรี สุดใจ
        การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายวางแผนได้กำหนดโครงการไว้ว่า จะลงมือทำการปฎิวัติในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาบันต้นเดือนเมษายน ตรงกับศกใหม่ ร.ศ. 130 ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งสมัยนั้น บรรดาข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องมีหน้าที่ถวายสัตย์ปฏิญาณสาบานตนต่อพระแก้วมรกต เฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ พระประมุขของชาติ ในท่ามกลางพระบรมวงศ์จักรี มุขอำมาตย์ ราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ และสมณะชีพราหมณาจารย์ ด้วยวิธีดื่มน้ำที่แช่ด้วยคมหอกคมดาบ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระประมุขของชาติ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งกายวาจาใจ โดยทั่วกันทุกคน และในโอกาสนี้คณะปฎิวัติจะใช้ปืนใหญ่ยิงขึ้นท้องสนามหลวงเป็นอาณัติสัญญาณ โดยกรมปืนใหญ่ที่1 รักษาพระองค์ และที่บางซื่อโดยกรมปืนใหญ่ที่ 2 เป็นสัญญาณให้หน่วยกำลังกล้าตายของคณะปฎิวัติ ได้รีบกระทำการทันที ให้เอาสนามหลวงเป็นแหล่งชุมนุมพลแหล่งใหญ่ ทางด้านกฎหมาย ก็ได้ทำการค้นคว้าหาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญนานาชาติ เพื่อร่างกฎหมายเตรียมการไว้อย่างพร้อมสรรพ
        มีการประชุมกันอีกหลายครั้ง และในครั้งที่4 นั้นก็มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายคน เช่น ร้อยตรี ลี้ ร้อยตรี ละม้าย ร้อยตรี สะอาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร้อยตรี บรรจบ ว่าที่ร้อยตรีชอุ่ม นาย เซี๊ยง สุวงค์ (พระยารามบัณฑิตสิทธิเศรณี) ร้อยตรี แช่ม ปานสีดำ
        การประชุมได้ดำเนินไปอีกหลายครั้ง และมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นายทหารหน่วยกำลังเป็นพรรคพวกคณะปฎิวัติเกือบทั้งสิ้น และนอกจากเผยแพร่หาสมัครพรรคพวกในพระนครแล้ว ยังขยายกว้างออกไปยังต่างจังหวัดอีกด้วย
        ในที่สุดคณะปฎิวัติก็มีสมัครพรรคพวกเพิ่มมากขึ้นทุกที ทหารที่จะมาอยู่ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาบันนั้น ทุกเหล่าพร้อมอาวุธ มาตั้งแถวเป็นเกียรติยศรับเสด็จพระราชดำเนินที่สนามหญ้าหลังวัดพระแก้ว ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และทหารราบที่11 รักษาพระองค์ที่ถือปืนติดดาบปลายปืน ยืนยามรักษาพระองค์อยู่หน้าประตูโบสถ์ ซึ่งที่จะอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวมากที่สุด คือทหารของคณะปฎิวัติทั้งสิ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายวางแผนได้ดำเนินการไปอย่างรัดกุมที่สุด
        และตามแผนของคณะปฎิวัตินั้น ทหารจะไม่ต่อสู้กันเลย แม้นายทหารจะออกคำสั่ง ทหารทั้งหลายจะตกอยู่ในการบังคับบัญชาของคณะปฎิวัติอย่างสิ้นเชิง และเพื่อความไม่ประมาท คณะปฎิวัติจึงต้องมีหน่วยกล้าตาย ออกทำการควบคุมตามจุดสำคัญๆ ไว้ด้วยทั้งสิ้น
        ในการปฎิวัติครั้งนี้ จุดมุ่งหมายอันใหญ่ยิ่งของคณะปฏิวัติ ก็คือ ไม่ต้องการให้มีการนองเลือดอย่างปฎิวัติในฝรั่งเศส และอังกฤษ ในสมัยพระเจ้าชาลส์ที่14 หรือการปฎิวัติโค่นล้มราชวงศ์แมนจู และการปฎิวัติในรัสเซีย เว้นแต่ว่าหลีกเลี่ยงมิได้
        จุดมุ่งหมายแรกคือการทูลเกล้าถวายหนังสือแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ให้ได้ทรงพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีพระบรมราชวินิฉัยให้เป็นไปตามหนังสือของคณะปฎิวัติ คือลดพระราชอำนาจลงมาอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ อันจะนำพาประเทศก้าวสู่ความก้าวหน้าเยี่ยงอารยะประเทศ แต่หากมิได้เป็นไปตามความมุ่งหมายนี้ คณะปฎิวัติก็จำเป็นจะต้องใช้กำลังรุนแรงก็อาจเป็นได้
        เนื่องจากการปฎิวัติครั้งนี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทหารในต่างจังหวัดด้วย เพราะทหารเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคอันใหญ่ยิ่งในการปฎิวัติครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้เอง คณะปฎิวัติจึงได้ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมทหารตามจังหวัดต่างๆ ไว้เป็นพวก โดยคณะปฎิวัติได้ตกลงกันว่า มณฑลอยุธยา มีหน่วยทหารกองพลที่ 3 ประจำอยู่ และอยู่ใกล้พระนคร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาไว้เป็นสมัครพรรคพวก จึงได้ให้ร้อยตรี ม.ร.ว.แช่ รัชนีกร ไปเกลี้ยกล่อม ส่วนในมณฑลอื่น เช่น มณฑลนครไชยศรี เป็นหน้าที่ของ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ กับ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ มณฑลราชบุรี เพชรบุรี ให้ ร.ต. บุญ แตงวิเชียร และ ร.ต.โกย ไปเกลี้ยกล่อม สำหรับมณฑลนครสวรรค์ มอบหมายให้ ร.ต.จันทร์ ปานสีแดง
        การไปเกลี้ยกล่อมทหารต่างจังหวัดนั้นได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนมากทหารหนุ่มยินดีให้ความร่วมมือด้วย แต่พวกนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั้นไม่เอาด้วย
        ร.ต. ทวน เธียรพิทักษ์ สมาชิกคณะปฎิวัติคนหนึ่งได้เสนอที่ประชุมว่า ได้ชักชวนสมาชิกใหม่คนหนึ่งไว้นานแล้ว ขณะนี้กำลังจะเดินทางไปรับตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชา ทหารปืนใหญ่ที่ 7 ที่พิษณุโลก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไว้ใจได้ บุคคลผู้นั้นคือ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ คงอยู่) แต่ ร.ต. เนตร ซึ่งเป็นเลขาธิการนุการคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ เคยเป็นศิษย์วัดเบญจมบพิตรมาด้วยกัน รู้นิสัยใจคอคนผู้นี้ดีว่าเป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ นิสัยโลเล พูดจาไม่แน่นอน ไม่จริงใจ เป็นคนน่ากลัว ชอบให้ร้ายป้ายสี ถ้าเอามาเป็นพวกก็เกรงว่า ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ อาจจะเป็นภัยแก่การปฎิวัติครั้งนี้ก็ได้
        คำคัดค้านของ ร.ต. เนตร ทำให้สมาชิกชักจะเริ่มลังเล เพราะบุคคลิกของ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ตามที่ ร.ต. เนตร ได้อ้างมานั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ มิใช่นักปฎิวัต
        อาจจะเป็นคราวเคราะห์ของคณะผู้ก่อการปฎิวัติ ร.ศ. 130 เพราะที่ประชุมไม่สามารถระงับไว้ได้ โดย ร.ต.ทวน ได้นำ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ เข้ามาในที่ประชุม ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในบ่ายของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2454 ขณะนั้นการประชุมได้ดำเนินไปก่อนหน้านั้นแล้ว จึงไม่สามารถระงับได้ทัน เพราะในระหว่างที่อยู่นั้น ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ก็โผล่เข้ามา ร.ต. ทวน รีบออกไปต้อนรับอย่างเพื่อนสนิท สมาชิกทั้งหลายต่างพลอยแสดงความยินดีไปด้วย เพราะล้วนแต่เคยรู้จักกันมาก่อนแล้วทั้งสิ้นและทันที่ที่ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ก้าวเข้าไปในที่ประชุม ก็ได้เกิดปรากฎการณ์แปลกประหลาด คือ แก้วนำยาอุทัยที่ตั้งอยู่กับพื้นเกิดแตกโพล๊ะเป็นสองท่อนขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ทุกคนถึงกับตกตะลึง และพากันเข้าใจว่า น่าจะเป็นลางร้าย แต่ ร.ท. เจือ ได้พยายามพูดจากลบเกลื่อนไปในทางที่ดีและเป็นสิริมงคลเสีย ทั้งหมดจึงได้คลายวิตกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประชุมกันต่อไป และมีพิธีสาบาน โดยเอาลูกกระสุนปืนแช่ในเหยือกน้ำ พร้อมกับคำสาปแช่งอย่างร้ายแรงว่า " ทุกคนจะต้องสุจริตต่อกัน ผู้ใดคิดการทรยศต่อคณะนี้จงพินาศ" จากนั้นก็รินน้ำสาบานให้ทุกคนดื่ม
        หมอเหล็ง ศรีจันทร์ ประธานในที่ประชุม ได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ในการปฎิวัติครั้งนี้ และแผนการณ์ต่างให้สมาชิกใหม่ทราบ โดย ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ มีความขัดข้องใจเรื่องราชวงศ์จักรี เกรงว่าจะกระทบกระเทือน ทำให้ประชาชนไม่พอใจ หมอเหล็ง ก็ได้อธิบายว่า
        " .....เป็นความจำเป็น เพราะทั่วโลกเขาก็ทำกันอย่างนี้ เพราะบ้านเมืองเต็มไปด้วยความยากจน ในราชสำนักนั้นก็ฟุ้งเฟ้อ ไม่ผิดอะไรกับราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 การกระทบกระเทือนย่อมต้องมีบ้าง เพียงแต่พระมหากษัตริย์ลดพระราชอำนาจลงมาอยู่ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น สำหรับประชาชนนั้นจะได้แถลงนโยบายให้ทราบโดยทั่วกัน และพวกเขาทุกคนน่าจะพอใจที่จะได้ปกครองตนเอง ตามระบบประชาธิปไตย ซึ่งคงไม่มีปฎิกิริยาจากประชาชนเป็นแน่ ..."
        ด้วยบุญญาธิการ อภินิหาร หรืออาจจะยังไม่ถึงคราวที่ราชวงศ์จักรีจะสิ้นอำนาจ ก็ตาม ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ที่ ร.ต. เนตร วิจารณ์ว่าเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจนั้น อาจจะไม่เห็นด้วยกับคณะปฎิวัติ หรือยังมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรืออาจจะเกรงกลัวอาญาแผ่นดิน หรือจะด้วยอะไรก็ตามแต่เถิด..... เพราะในที่สุด ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ก็จับเบอร์ได้เป็นผู้ที่จะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับจารพระราชวังสนามจันทร์ โดยทางรถไฟพระที่นั่ง ที่สถานีบางกอกน้อย อันเป็นแผนการณ์ของคณะปฎิวัติ ร.ศ.130 ตามที่ได้ตกลงกันไว้ และแผนต่อไปคือ การจับกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไว้เป็นหลักประกัน โดยแผนการณ์ครั้งนี้เป็นแผนการณ์ที่ค่อนข้างจะร้ายแรงมาก เป็นการเสี่ยงมากทีเดียว
        อาจเป็นเพราะ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ไม่เห็นด้วยกับแผนการณ์ในครั้งนี้ หรือเพราะ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ไม่มีหัวที่จะเป็นนักปฎิวัติ และยิ่งตนเองจะต้องเป็นผู้ลงมือด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ หนักใจยิ่งนัก และเมื่อหาทางออกอื่นไม่ได้แล้ว จึงได้ตัดสินใจนำความลับนี้ไปปรึกษา ร.ท. ทองอยู่ (พ.ท. พระตะบะ) มหาดเล็กคนโปรดของพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ
        เมื่อ ร.ท. ทองอยู่ (พ.ท. พระตะบะ) ได้ทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ก็พา ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ เข้าเฝ้าหม่อมเจ้าพันธุประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่1 รักษาพระองค์ที่บางซื่อ โดยหม่อมเจ้าพันธุประวัติ ได้นำความกราบทูลเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ในตอนเย็นวันนั้นเอง
        สมเด็จเจ้าฟ้าฯทรงทราบเรื่องก็รู้สึกวิตกพระทัยยิ่งนัก เพราะพระองค์ไม่ทรงได้คาดฝันมาก่อน เพราะบุคคลในคณะปฎิวัติ ร.ศ.130 นั้นเป็นลูกศิษย์ เป็นมหาดเล็กผู้ใกล้ชิด และตัวหมอเหล็งเองก็เป็นถึงแพทย์ประจำพระองค์ ซึ่งทรงโปรดปรานให้เข้าเฝ้าใกล้ชิด สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯจึงได้รีบรุดไปเข้าเฝ้ากราบบังคับทูล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โดยขบวนรถไฟพิเศษ
        เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เสด็จไปถึงก็รีบเข้าเฝ้าทูลเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวไปพบเพียงลำพังสองต่อสอง เพื่อกราบทูลพฤติการณ์สังหารโหด ของคณะปฎิวัติ ร.ศ. 130 ซึ่งมุ่งหมายจะเปลี่ยนการปกครอง มาเป็นลัทธิประชาธิปไตย และมีแผนสังหารพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับรับฟังด้วยพระทัยอันทรงพระวิตก จึงได้มีพระราชดำรัสให้ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ รีบดำเนินการกับผู้คิดร้ายต่อราชบัลลังก์โดยด่วนที่สุด ส่วนทางกองเสือป่าที่กำลังฝึกซ้อมอยู่ในขณะนั้น ก็สั่งให้เลิกซ้อมในทันทีทันใด
        การจับกุมตัวพวกคณะปฎิวัติ ได้กระทำกันอย่างรวดเร็วมาก โดยหลังจากที่กลับจากเข้าเฝ้ากราบบังคับทูลแล้ว ก็ได้ออกคำสั่งลับเฉพาะด่วนมาก เรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ผู้บังคับการขึ้นไป ณ ห้องประชุมกลาโหม สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯทรงเป็นประธาน โดยประตูห้องประชุมปิดหมด เพื่อมิให้ผู้ใดรู้เรื่องการประชุมในครั้งนี้
        เวลา 11.00 น. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ก็มีคำสั่งให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกทำการจับกุมพวกคณะปฎิวัติ ร.ศ. 130 โดยแบ่งเป็นสายๆ กว่าจะจับกุมตัวได้หมด ก็ใช้เวลาพอสมควร และได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการนองเลือดและต่อสู้ เพราะเหล่าพวกคณะปฎิวัตินั้นไม่เตรียมตัว เพราะต่างกำลังเฝ้าคอยข่าวคราวที่ ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ จะไปปฎิบัติ ว่าจะได้ผลเพียงใด จึงมิได้เตรียมการณ์ป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งหมดจึงถูกจับกุมโดยละม่อม ปราศจากการขัดขวางและแข็งขืน หรือต่อสู้
        หลังจากจับกุมนักปฎิวัติได้ทั้งหมดแล้ว ก็มีพระบรมราชโองการ ให้ตั้งคณะกรรมการศาลทหารขึ้น โดยประกอบด้วย
  1. จอมพล พระยาบดินทร์เดชานุชิต (ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) ปลัดทูลฉลอง กระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
  2. พลเอก พระยาศักดาวรเดช (แย้ม ณ นคร ) จเรทหารบก
  3. พลตรี พระยาพิชัยสงคราม (เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร)
  4. น.อ. พระยาวิจิตรนาวี
  5. น.อ. พระยาสุนทรา (พระยาวินัยสุนทร) กรมพระธรรมนูญทหารเรือและนายทหารกรมพระธรรมนูญทหารเรืออีก 2 ท่าน


ภาพ:คณะผู้ปราบปรามผู้ก่อการกำเริบ.JPG
คณะผู้ปราบปรามผู้ก่อการกำเริบ
        โดยรัฐบาลได้ขนานนามกลุ่มนักปฎิวัติ ร.ศ. 130 กลุ่มนี้ว่า "สมาคมก่อการกำเริบ" ไม่ใช้คำว่ากบฎ และการคุมขังนั้นได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ คุมขังที่ต่างประเทศ คุมขังที่กระทรวงกลาโหม และคุมขังหรือกักบริเวณตามกรมกองต่างๆ
        การสอบสวนของคณะกรรมการศาลทหาร เริ่มด้วยการพิมพ์หัวข้อคำถาม 13 ข้อ ให้ผู้ต้องหาตอบชี้แจง คำถามเหล่านี้ส่งไปยังที่คุมขังทุกแห่ง แล้วรวบรวมคำตอบของผู้ต้องหาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเป็นกองๆ เพื่อค้นหาสาเหตุและหลักฐานของการกระทำผิด ของแต่ละบุคคล ว่าใครทำผิดหนักเบาต่างกันเพียงไร
        คณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ ใช้ห้องกลางมุขด้นหลังกระทรวงกลาโหมชั้น3 เป็นศาลทหาร พวกที่ถูกเรียกตัวมาสอบสวนที่ศาลทหารในกระทรวงกลาโหม ก็คือผู้ต้องหาประเภทที่1 ที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกต่างประเทศ ศาลได้ส่งกรรมการเข้าไปไต่สวน หรือเผชิญสืบภายในคุกเอง โดยทางเรือนจำได้จัดห้องพิเศษไว้ให้เป็นการเฉพาะ สำหรับเจ้าหน้าที่และกรรมการศาลทหาร การสอบสวนและสืบสวน ได้ดำเนินการกันอย่างเคร่งเครียด
        สำหรับคำให้การของหมอเหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะปฎิวัติ ร.ศ. 130 มีความตอนหนึ่งว่า
        " เพียงมีการหารือกันเพื่อทำหนังสือทูลเกล้าฯถวาย ในอันจะขอพระมหากรุณาธิคุณ ให้องค์พระมหากษัตริย์ ทรงปรับปรุงการปกครองให้สอดคล้องกับกาลสมัย โดยเปลี่ยนการปกครองเป็นลิมิเต็ดมอนากี้ มิได้มีการตระเตรียมกำลัง ที่จะยึดอำนาจแต่อย่างใด"
        กรรมการท้วงว่า...." ถ้าไม่มีกำลังทหารบีบบังคับแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงยินยอมหรือ..."
        หมอเหล็งได้อ้างถึงประเทศญี่ปุ่น ที่พระมหาจักรพรรดิทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชน ทำให้คณะกรรมการถึงกับอึ้งไป
        คำให้การของ ร.ท. เจือ เสนาธิการผู้วางแผนการณ์ ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับหมอเหล็ง ศรีจันทร์ แต่ได้เพิ่มเหตุผลบางประการเกี่ยวกับการทหาร โดยเกรงว่าจะไม่เป็นไปตามหลักวิชาเสนาธิปัตย์ ทุกคนได้ศึกษามาจากทูลกระหม่อมจักรพงษ์ฯ และผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการทหารในขณะนั้น
        คำให้การของ ร.ต. วาส วาสนา เป็นไปแบบขวานผ่าซากว่า..." ตามทัศนะของเขาเห็นว่า ราชการแผ่นดินสมัยนั้น เป็นประหนึ่งตุ๊กตาเครื่องเล่นของประเทศ จะยึดอะไรเป็นล่ำเป็นสันสักอย่างก็ไม่ได้ เขาเป็นมหาดเล็กได้เห็นพฤติกรรมในราชสำนักมาเป็นอย่างดี"
        คำให้การของ ร.ต. ถัด รัตนพันธ์ ว่า...." เขาพอใจที่จะคิดเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครอง เพราะการเล่นโขนเล่นละครเสียเองของประมุขแห่งชาตินั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเลย มีแต่เสื่อมเสียพระเกียรติคุณแก่นานาประเทศ และมีผลกระทบกระเทือนถึงชาติ และประชาชนอีกด้วย ควรให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นเขาแสดงและจัดการ การมีกองเสือป่าก็เช่นกัน ทำให้สิ้นเปลืองเงินของแผ่นดิน ทำให้ข้าราชการทหารและพลเรือนแตกร้าวกัน ซึ่งเคยมีตัวอย่างมาแล้วในประเทศเตอรกี...."
        ประธานแก้แทนองค์พระประมุขต่างๆ นานา ว่า..."คนเราจะทำงานอย่างเดียวตะพึดตะพือไปได้อย่างไร ต้องมีการเล่นหัวบ้าง เพื่อเป็นการหย่อนพระราชหฤทัย จะได้ทรงพระราชภาระได้ต่อไปอีกนานๆ..."
        สำหรับ ร.ท. เนตร นั้น แม้คณะกรรมการจะพยายามซักไว้อย่างไร ก็ปฎิเสธมาโดยตลอดและการพิจารณาในตอนแรก รัฐบาลลงโทษเพียง 3 ปี 5 ปีเท่านั้น แต่ก็มีเหตุที่ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง ออกกุศโลบายเพื่อข่มขู่รัฐบาล คือ ทำจดหมายขึ้นฉบับหนึ่ง มีใจความย่อๆว่า ถ้าสมาชิกคณะปฎิวัติถูกจำจอง หรือถูกคุมขัง แม้แต่คนเดียว ก็ให้ปืนใหญ่ 2 พร้อมกับเหล่าอื่นทำการได้ แล้วปาจดหมายให้ตกบริเวณกำแพงคุก ผู้คุมเก็บไว้ได้ และเสนอไปตามลำดับชั้น ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นกำลังพิจารณาคำพิพากษาของกรรมการศาลทหารอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็เลยทรงงดพระราชวินิจฉัยส่งกลับไป พร้อมกับจดหมายฉบับนั้น ให้กรรมการทำการสอบสวนกันใหม่ เพราะคณะปฎิวัติมิได้มีความประสงค์ จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองเท่านั้น กลับสมคบกันประทุษร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วย
        ร.ต. เจือ และ ร.ท. จรูญ ถูกคุมขังอุกฤษฎ์โทษ รวมทั้งคณะปฎิวัติทั้งหมดด้วย การสอบสวนครั้งที่2 ดำเนินต่อมาจนถึงเดือนพฤษถาคม 2454 คำพิพากษาของศาลทหาร ถวายขึ้นไปกราบทูลเป็นครั้งที่2 เพื่อขอพระราชวินิจฉัยขั้นเด็ดขาด
        เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 คณะกรรมการศาลทหารทั้ง 7 ท่าน ได้สนองพระราชโองการ นำคำพิพากษาไปอ่านให้ผู้ต้องหาในคุกต่างประเทศฟัง โดยมีผู้ต้องหาประเภทนี้ 10 คน
        คณะกรรมการศาลทหารเดินเข้าไปที่ประตูห้องขัง และกล่าวว่า...." พวกเธอทั้งหลาย คงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณดีแล้ว ที่โปรดยกโทษอุกฤษฎ์ให้ คงเหลือแต่จำคุกเท่านั้น หาใช่เพียงแต่เท่านั้นไม่ พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาแก่พวกเธอต่อไปอีกเป็นแน่ ถ้าพวกเธอได้ประพฤติตนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย อย่าได้กระทำการใด ซึ่งเป็นภัยแก่ตนเองอีก..."
        และในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้นเอง เวลา 14.00 น. คณะกรรมการก็ได้เบิกตัวผู้ต้องหาประเภทที่2-3 ประมาณ 13 คน คือ
  1. พ.ต. นายแพทย์หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตเวช)
  2. ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส
  3. ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์
  4. ร.ต. ปลั่ง บูรณะโชติ
  5. ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์
  6. ร.ต. เหรียญ ทิพยรัตน์
  7. ร.ต. จรูญ ษตะเมษ
  8. ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์
  9. ร.ต. สอน วงษ์โต
  10. ร.ต. โกย วรรณกุล
  11. ร.ต. จันทร์ ปานดำ
  12. ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์
  13. ร.ต. ศิริ ชณหประไพ
        ทุกคนอยู่ในชุดทหารตามยศ แต่ไม่ขัดกระบี่ เพื่อไปฟังคำพิพากษา และพระบรมราชวินิจฉัยเด็ดขาด แต่ทุกคนอยู่ในอาการสงบ เพราะทราบดีอยู่แล้วว่า จะมีเหตุร้ายดีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต ต่อมาทุกคนถูกถอดเครื่องแบบออกหมด และมีการสวมกุญแจมือ ก่อนที่จะเข้าไปในห้องประชุม
        ต่อมาคณะกรรมการก็เข้านั่งโต๊ะพร้อมกัน พระยาพิชัยสงคราม เป็นผู้อ่านคำพิพากษา ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2454 มีใจความสำคัญดังนี้
        "เรื่องก่อการกำเริบ ตามที่คณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว เรื่องเดิมมีนายทหารบกบ้าง ทหารเรือบ้าง พลเรือนที่ทำงานอยู่ในกระทรวงยุติธรรมบ้าง ได้สมคบคิดกัน ด้วยมูลความประสงค์คิดจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองของพระราชอาณาจักร ได้ประชุมตั้งสมาคม เมื่อเดือนมกราคม ร.ศ.130 แล้วได้ประชุมกันต่อๆมาอีก ราว 8 คราว ตระเตรียมกันทำการกบฎ ถึงประทุษร้ายพระเจ้าแผ่นดิน กระทรวงกลาโหมทราบเรื่องนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ.130 จึงได้จับนายทหารบกซึ่งเป็นหัวหน้า และคนสำคัญในสมาคมนี้ จัดการไต่สวนตลอดจนพรรคพวก กระทรวงกลาโหมได้ทำรายงานตามที่ไต่สวน และนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารบก ทหารเรือ รวม 7 นาย เป็นกรรมการพิจารณาทำคำปรึกษาโทษ ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา มีใจความที่วินิจฉัย ตามที่ได้พิจารณาได้ความว่า ผู้ที่รวมคบคิดในสมาคมนี้ มีความเห็นจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นลีพับปิกบ้าง เป็นลิมิเต็ดมอนากี้บ้าง ส่วนที่จะจัดการอย่างไร จึงจะเปลี่ยนแปลงการปกครองได้นั้น ปรากฎอยู่ในที่ประชุมถึงการกระทำการประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องนี้เดิมทีดูเหมือนสมาคมนี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อจะเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง แต่ครั้นพิจารณาตลอดแล้วกลับได้ความว่า สมคบกันเพื่อประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย แม้บางคนจะไม่มีเจตนาโดยตรง ที่จะประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี แต่ได้สมรู้เป็นใจและช่วยปกปิด เพราะฉะนั้น ตามลักษณะความผิดนี้ กระทำผิดต่อกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 97 ตอนที่2 มีโทษประหารชีวิตด้วยกันทุกคน บางคนกระทำผิดมาก ไม่สมควรได้ลดโทษเลย แต่บางคนกระทำผิดน้อยบ้าง ได้ให้การสารภาพให้เป็นประโยชน์ในทางการพิจารณาบ้าง และมีเหตุผลอื่นสมควรได้ลดหย่อนความผิดบ้าง อันเป็นเหตุควรลดโทษฐานปราณี ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 37 และมาตรา 59 จึงกำหนดโทษ 5 ขั้น ดังนี้
        ชั้นที่ 1. ให้ลงโทษประหารชีวิต 3 คน
        ชั้นที่ 2. ลดโทษลง เพียงจำคุกตลอดชีวิต 20 คน
        ชั้นที่ 3. ลดโทษลง เพียงจำคุกมีกำหนด 20 ปี 32 นาย
        ชั้นที่ 5. ลดโทษลง เพียงจำคุกมีกำหนด 12 ปี 30 คน
        มีผู้ต้องคำพิพากษาศาลทหารเพียง 91 คนเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยเด็ดขาด ลงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ดังนี้
        "ได้ตรวจคำพิพากษาของศาลทหาร ซึ่งได้พิจารณาปรึกษาโทษคดีผู้มีชื่อ 91 คน ก่อการกำเริบ ลงวันที่ 4 พฤษภาคมนั้นตลอดแล้ว เห็นว่ากรรมการพิจารณาพวกเหล่านั้น ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการแล้ว แต่ความผิดของพวกเหล่านี้มีข้อสำคัญที่จะทำร้ายต่อเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทคาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินที่จะยกโทษให้ได้ เพราะฉะนั้น บรรดาผู้มีชื่อ 3 คน ซึ่งวางโทษไว้ในคำพิพากษาของกรรมการ ว่าเป็นฐานชั้นที่1 ให้ประหารชีวิตนั้น ให้ลดโทษเป็นโทษชั้นที่ 2 ให้จำคุกตลอดชีวิต"
        "บรรดาผู้มีชื่อ 20 คน ซึ่งลงโทษไว้เป็นชั้นที่2 ให้จำคุกตลอดชีวิตนั้น ให้ลดโทษลงเป็นชั้นที่3 ให้จำคุกคนละ 20 ปี ตั้งแต่วันนี้สืบไป
        บรรดาผู้มีชื่อ 68 คน ซึ่งวางโทษไว้ในชั้นที่3 ให้จำคุก 20 ปี 32 คน และวางโทษชั้นที่4 ให้จำคุก 15 ปี 6 คน และวางโทษชั้นที่5 ให้จำคุก 12 ปี 30 คนนั้น ให้รอลงอาญา ทำนองอย่างที่ได้กล่าวในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 41 และ 42 ซึ่งว่าด้วยการลงโทษทางอาญาในโทษอย่างน้อยนั้น อละอย่าเพ่อให้ออกจากตำแหน่งก่อน
        แต่ผู้มีชื่อ 3 คน ที่ได้ลงโทษในชั้นที่2 กับผู้มีชื่ออีก 20 คน ที่ได้ลงโทษในชั้นที่3 รวม 23 คนดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ให้ถอดออกจากตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ ตามอย่างธรรมเนียมซึ่งเคยมีแก่นักโทษเช่นนั้น"
        ในจำนวนผู้ที่ต้องรับพระราชอาญาจำคุก 32 คนนั้น เป็นพลเรือนคนหนึ่งคือ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา กองล่ามกระทรวงยุติธรรม นอกนั้นเป็นทหารบก 22 คน ให้ถอดออกจากยศบรรดาศักดิ์แล้ว คือ
จำคุกตลอดชีวิต
  1. ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)
  2. ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง
  3. ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์
จำคุก 20 ปี
  1. ร.ท. เจือ ควกุล
  2. ร.ต. เขียน อุทัยกุล
  3. ร.ต. วาส วาสนา
  4. ร.ต. ถัด รัตนพันธ์
  5. ร.ต. ม.ร.ว. แช่ รัชนีกร
  6. ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์
  7. ร.ต. เหรียญ ทิพยรัตน์
  8. ร.ต. ทวน เธียรพิทักษ์
  9. ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์
  10. ร.ต. สอน วงค์โต
  11. ร.ต. ปลั่ง บูรณโชติ
  12. ร.ต. จรูญ ษตะเมษ
  13. ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส
  14. ร.ต. บ๋วย บุณยรัตนพันธ์
  15. ว่าที่ ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ
  16. ร.ต. จันทร์ ปานสีดำ
  17. ร.ต. โกย วรรณกุล
  18. พ.ต. หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์
  19. ร.ต. บุญ แดงวิเชียร